หนังสือในความหมายของคนส่วนใหญ่ อาจจะมี “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” แต่หนังสือ 10 เล่มที่ flavorwire.com รวบรวมไว้ ซื้อขายกันได้ในราคาแพงสุดสุดระดับโลก และถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญ ถ้าใครมีไว้ในครอบครองละก็ กลายเป็นมหาเศรษฐีชั่วข้ามคืนได้แบบไม่ทันตั้งตัวเลย
อันดับ 1 คือ “The Codex Leicester”
ผลงานของจิตรกรระดับโลก “Leonardo da Vinci” หนังสือที่มีความหนาแค่ 72 หน้าเล่มนี้ (ซึ่งมีคนเคยเปรียบเปรยไว้ว่าราวกับสมุดเล็กเชอร์ของดาวินชี) มีราคาซื้อขายอยู่ที่1,040 ล้านบาท
หนังสือทั้งเล่มเขียนโดยลายมือของลีโอนาร์โด ดาวินชี ด้วยตัวหนังสือแบบเงาสะท้อนในกระจกเป็นภาษาอิตาลีพร้อมรูประกอบมากมาย ทฤษฎีต่างๆ ตั้งแต่เรื่องฟอสซิลไปจนถึงการเคลื่อนไหวของน้ำ เมื่อปี 1994 “บิล เกตส์” มหาเศรษฐีชื่อดังได้ประมูลไปและอนุญาตให้มีการนำ The Codex Leicester ออกไปจัดแสดงในเมืองต่างๆ ทั่วทั้งโลก
อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา นอกจากนี้เขายังสแกนหนังสือเล่มนี้เพื่อใช้เป็นภาพพักหน้าจอของคอมพิวเตอร์ในระบบ ไมโครซอฟต์พลัส และวินโดวส์ 95 อีกด้วย
อันดับ 2 คือ “The Gospels of Henry the Lion” โดย “Order of Saint Benedict”
มีราคาราว 395 ล้านบาท ในความหนา 266 หน้า ซื้อโดยรัฐบาลเยอรมัน เป็นหนังสือเพลงกอสเปลที่เขียนขึ้นเพื่อบูชาพระแม่มารีในศตวรรษที่ 12 เขียนเป็นภาษาโรมันด้วยลายมือ
อันดับ 3 “Birds of America” โดย “James Audubon”
ราคา 388 ล้านบาท ซึ่งมีเพียง 119 เล่มในโลกนี้ โดย 106 เล่ม อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สถาบัน และองค์กรชั้นนำของโลก เช่น ห้องสมุดวิคตอเรีย ในออสเตรเลียมหาวิทยาลัย Meisei ของญี่ปุ่น และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ที่อังกฤษ ผู้เขียนเป็นนักธรรมชาติวิทยาซึ่งมีฝีมือทางจิตรกรรมอย่างหาตัวจับยาก
เขาเดินทางไปทั่วอเมริกาเพื่อสำรวจและวาดภาพนกพันธุ์ต่างๆ โดยวาดภาพนกขนาดเท่าของจริงจากป่าในสหรัฐอเมริกา จำนวน 489 ชนิด อาทิ นกอินทรีย์ทอง นกเค้าแมวหิมะ และนกฟลามิงโก
นอกจากนี้ ยังมีภาพของนกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด คือนกแก้วแคโรไลนา นกพิราบนักเดินทาง เป็ดลาบราดอร์ นกอ็อกใหญ่ นกอีก๋อยเอสกิโม และฮีทเฮน พร้อมบทบรรยายทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับนก ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1827
อันดับ 4 “The Canterbury Tales” โดย “Geoffrey Chaucer”
เขียนขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นเรื่องย่อยที่รวบรวมกันเป็นหนังสือ (2 เล่มเป็นร้อยแก้ว อีก 22 เล่มเป็นร้อยกรอง) โดยเป็นตำนานที่เล่าโดยนักแสวงบุญ แต่แทนที่จะเป็นเรื่องราวของชนชั้นขุนนางตามธรรมเนียมกลับเป็นเรื่องเล่าแห่งสามัญชน เชื่อว่าเล่มนี้ป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วรรณกรรมพื้นบ้านภาษาอังกฤษสามารถปักหมุดหมายในโลกวรรณกรรมได้ เพราะในยุคนั้นวรรณกรรมชั้นยอดมักเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน ราคาเล่มนี้คือ 253 ล้านบาท
อันดับ 5 “First Folio” โดย “William Shakespeare”
เชื่อว่าผลงานของนักเขียนระดับโลกเล่มนี้เหลืออยู่เพียง 228 เล่มในโลกเท่านั้น ทำให้กลายเป็นหนังสือที่นักสะสมตามหามากที่สุดเล่มหนึ่งของโลก และในปี 2001 “พอล แอลเลน” ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์ ก็ประมูลไปด้วยราคา 203 ล้านบาท
อันดับ 6 “The Gutenberg Bible”
ไบเบิลนี้มีราคาถึง 165 ล้านบาท เพราะเป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เป็นเล่มแรก และเมื่อการผลิตทำได้ง่ายกว่าเดิมจึงกลายสัญลักษณ์ของยุคกระจายความรู้ผ่านหนังสือ
อันดับ 7 “Traite des arbres fruitiers” หรือ “Treatise on Fruit Trees” โดย “Henri Louis Duhamel du Monceau”
ภาพประกอบโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสชื่อดัง 2 คน คือ “Pierre Antoine Poiteau” และ “Pierre Jean Francois Turpin” ถือเป็นหนังสือเกี่ยวกับผลไม้ที่แพงที่สุดในโลกคือราคา 152 ล้านบาทโดยใน 1 ชุดจะมีหนังสือ 5 เล่ม
อันดับ 8 “Geographia Cosmographia” โดย “Claudius Ptolemy”
นักปราชญ์ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักภูมิศาสตร์คนสำคัญของโลก หนังสือแผนที่เล่มแรกของโลก ราคา 135 ล้านบาท ว่าด้วยความรู้ด้านภูมิศาสตร์ในศตวรรษที่ 2
อันดับ 9 “The Tales of Beedle the Bard”โดย “J.K. Rowling”
นักเขียนชื่อดังแห่งโลกปัจจุบัน ซึ่งเขียนขึ้นก่อน “แฮร์รี พอตเตอร์” โดยมีเพียง 7 เล่มบนโลก อยู่ในมือของเพื่อนๆ และบรรณาธิการของเธอ แต่ในปี 2007 มีการประมูลออนไลน์ 1 เล่ม จนกลายเป็นหนังสือเขียนด้วยมือสมัยใหม่ที่แพงที่สุดในโลก และรายได้จากการประมูล 134 ล้านบาท นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล
และสุดท้ายอันดับ 10 คือ “The First Book of Urizen” โดย “William Blake”
ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1794 เป็นผลงานชิ้นเอก (บ้างเชื่อว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุด) ในชุดหนังสือคำทำนายของเบลค ซึ่ง 1 ใน 8 เล่มที่ยังเหลืออยู่บนโลกนี้ถูกนักสะสมประมูลจากสำนักประมูลซอธบีย์ ที่นิวยอร์กเมื่อปี 1999 ในราคาสูงถึง 75 ล้านบาท
ทั้งหมดล้วนแต่เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ายิ่งกว่ามูลค่าทั้งนั้นเลยนะคะ เป็นหนังสือที่สร้างองค์ความรู้ให้โลก และเป็นหนังสือในตำนานต่างๆ และเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อของคนต่างประเทศ
ที่มา: sanook