เราต่างรู้ดีว่าการเตรียมตัวในทุกสนามย่อมเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ ในการสมัครทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะทุนเรียนต่างประเทศที่มีอัตราการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง คนที่พร้อมกว่าย่อมได้เปรียบ
….แต่ต้องเตรียมตัวอย่างไรล่ะ? นี่อาจเป็นหนึ่งในคำถามที่คุณสงสัย เพราะแม้ว่าจะมีใจฟิตเต็ม 100% แต่หากเตรียมตัวไม่ถูกทางก็อาจไม่สำเร็จตามเป้าหมาย
วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับดีๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนมาฝากกันค่ะ
1. เตรียมข้อมูลให้กว้างและลึกที่สุด
ในขั้นตอนของการหาทุนเพื่อสมัคร ไม่ว่าจะเป็นทุนระยะสั้นหรือทุนเรียนต่อแบบเต็มเวลา สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทุ่มให้สุดตัวคือการหาข้อมูลเพื่อทำควมเข้าใจกับเงื่อนไขและการเตรียมเอกสารให้พร้อม
การเตรียมตัวเองในขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณมีตัวเลือกสำหรับการพิจารณาที่มากขึ้น และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับความประทับใจจากการเขียนเรียงความที่อิงจากนโยบายของทุนนั้นๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย
Tips: บางครั้งข้อมูลจำนวนมากอาจทำให้สับสน แนะนำให้ใช้แอฟพลิเคชันเป็นตัวช่วยจะทำให้จัดระเบียบได้ง่ายขึ้น
2. ค้นหาในทุกคีย์เวิร์ดที่คุณสามารถสมัครได้
คุณอาจทำการสอบถามรุ่นพี่ที่เคยได้รับทุนมาก่อน ไปยังศูนย์ให้คำปรึกษาผู้เรียน หรือแม้แต่หาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยวิธีเหล่านี้จะทำให้คุณคุ้นเคยกับชื่อของทุนการศึกษาจำนวนมาก และเพิ่มโอกาสที่จะได้พบกับทุนที่คุณสามารถสมัครได้
ในขั้นตอนของการค้นหาผ่านทางออนไลน์ การใส่คีย์เวิร์ดก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่คุณควรใส่ใจ การใส่คำค้นหาเช่น “เรียนต่อต่างประเทศ + ปริญญาตรี + ทุน + ประเทศ/ภาษา/วิชาเอก” จะช่วยระบุขอบเขตของทุนที่คุณต้องการ (และสมัครได้) ให้หาเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น
3. ทำความเข้าใจเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มอบทุน
ก่อนที่จะสมัคร คุณควรทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของทุนนั้นๆ รวมถึงองค์กรที่มอบทุนด้วยเพื่อให้รู้แนวทางว่า แต่ละทุนมักให้ความสนใจกับผู้สมัครแบบไหน หรือในกรณีที่ต้องเขียนเรียงความเพื่อสมัคร จะได้รู้แนวทางการเขียนที่จะสร้างความประทับใจได้
4. ทำความเข้าใจถึงกระบวนการพิจารณาผู้สมัคร
ต่อจากข้อที่แล้ว เมื่อเราเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมายที่แต่ละองค์กรมองหาจากผู้สมัครทุนแล้ว คุณจะสามารถประเมินได้ว่าพวกเขากำลังมองหาคนแบบไหน และทำให้เตรียมตัวง่ายมากขึ้น
Tips: ลองเข้าไปดูัสัมภาษณ์ผู้ได้รับทุนในเว็บไซต์ขององค์กรนั้นๆ จะมีแนวคำถามแฝงอยู่ ซึ่งคุณอาจนำมาประยุกต์ใช้ในการเตรียมตัวได้
5. ลองมองหาทุนที่ไม่ใช่ประเทศยอดนิยม
ยิ่งปลายทางมีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ อัตราการแข่งขันก็ย่อมสูงมากขึ้นเท่านั้น หากคุณเลือกสถาบันหรือประเทศที่มีคุณภาพแต่คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่ได้เลือกไปเรียนต่อจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรับทุนได้มากยิ่งขึ้น
Tips: กรณีเรียนภาษา มีบางประเทศที่สามารถเลือกไปเรียนแทนกันได้ เช่น หากคุณอยากเรียนภาษาสเปน แทนที่จะเลือกประเทศสเปน ลองหาตัวเลือกประเทศที่ใช้ภาษาสเปนแทนก็จะมีโอกาสมากกว่า
6. เคล็ดลับการเขียนเรียงความ “หลีกเลี่ยงการเขียนประโยคยอดนิยม”
“ฉันอยากดื่มด่ำกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ” หรือ “ฉันสนใจเกี่ยวกับภาษา XX มาตลอด นี่คือความฝันของฉัน” ประโยคเหล่านี้ถือเป็นคำคลาสสิคที่ใช้กันมารุ่นต่อรุ่น และคณะกรรมการย่อมเห็นจนเบื่อ
หากคุณอยากให้งานเขียนของคุณมีความโดดเด่นและแตกต่าง ลองเล่าเรื่องราวของตัวเองโดยเชื่อมโยงกับแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากสมัครทุนเพื่อเปิดโลกกว้าง เช่น “สมัยเรียนเคยไปแลกเปลี่ยนและนั่นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจภาษา รวมทั้งตั้งเป้าหมายในการเรียนต่อครั้งนี้” หรือ “ครอบครัวของเราต้องย้ายถิ่นฐาน นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ันได้พบเจอวัฒนธรรมใหม่ๆ และอยากต่อยอดมันให้มากยิ่งขึ้นไป” ฯลฯ
เรื่องราวสั้นๆ ที่อิงจากประสบการณ์ส่วนตัวเหล่านี้จะช่วยดึงดูดความสนใจและแสดงความเป็นตัวคุณได้อย่างมากเลยค่ะ :D
7. เล่าถึงแผนการหลังเรียนจบของคุณ
บางครั้ง เป้าหมายหลังสำเร็จการศึกษาก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่คณะกรรมการให้ความสนใจ ลองวางแผนและนำเสนอว่าคุณมีเป้าหมายหลังเรียนจบอย่างไร หรือคิดว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะนำทักษะที่ได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดได้อย่างไร หัวข้อเหล่านี้มักสร้างความประทับใจและเสียงชื่นชมได้เสมอ
8. ขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา
บางครั้งมุมมองของผู้อื่นก็อาจเติมเต็มในส่วนที่คุณมองข้ามไป การพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ที่มีประสบการณ์ขอทุนจะช่วยให้การเตรียมตัวของคุณสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการกล่าวอ้างอิงในจดหมายแนะนำเพื่อสมัครทุน
9. ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดให้ดีก่อนส่งใบสมัคร
เรื่องนี้คือสิ่งสำคัญ คุณควรเช็คเนื้อหาและความถูกต้องอย่างน้อย 2 ครั้งในทุกเอกสารเพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองไม่ได้พลาดตกหล่นอะไรไป และป้องกันการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดายกรณีที่มีคุณสมบัติที่คุณไม่ตรงตามเงื่อนไข
10. บางครั้งการสนับสนุนอาจมีมากยิ่งกว่าในใบประกาศ
อย่าพึ่งเมินหากคุณเห็นว่าเงินสนับสนุนในทุนนั้นๆ มันดูน้อยกว่าทุนอื่น เพราะบางครั้งอาจมีความช่วยเหลืออื่นตามมา เช่น ที่พัก วีซ่า หรือการหางานเสริมในฐานะนักศึกษา ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างผู้ได้รับทุนกับองค์กร ดังนั้นยิ่งคุณมีโปรไฟล์ที่ดีมากแค่ไหน ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่นักล่าฝันคนหนึ่งแชร์ไว้บนเว็บไซต์ Go Overseas ซึ่งจากการเตรียมตัวดังกล่าวทำให้เธอได้เปิดโลกกว้างและได้เรียนรู้มุมมองที่มีต่อโลกอย่างมากมาย
ใครที่กำลังเริ่มฟต้น สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ได้นะคะ :)
ที่มา: Go Overseas