วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวบรรณารักษ์ที่หลายคนไม่เคยทราบมาก่อน ว่าอาชีพที่วันๆ อยู่แต่กับห้องอันเต็มไปด้วยชั้นหนังสือที่เรียงรายเป็นตับๆ ต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่ก็ซ่อนความน่าอิจฉาไว้ในขณะเดียวกัน
เว็บไซต์ Reader Digest เปิดเผยข้อมูลที่พวกเขารวบรวมมาเกี่ยวกับเรื่องที่เหล่าบรรณารักษ์แห่งห้องสมุดทั้งหลายไม่เคยบอก และคุณคงอยากจะรู้ทั้ง 13 เรื่องนี้…
1. E-book ยอดนิยม
อย่างหนังสือเรื่อง Fifty Shades of Grey เป็นเรื่องยอดนิยมที่หลายคนคงอยากอ่านแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ว่าคุณอ่านเรื่องนี้อยู่ ฉะนั้นการอ่านในรูปแบบของ e-book ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน
2. แนะนำหนังสือได้ทั้งที่ยังไม่เคยอ่าน
ใช่ว่าบรรณารักษ์จะเคยอ่านหนังสือทุกเรื่องในห้องสมุด เพราะพวกเขาก็ต่างไม่มีเวลามากมายเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไปอย่างเราๆ ดังนั้นที่แนะนำหนังสือดีๆ ได้ เป็นเพราะบางส่วนก็อ้างอิงมาจากการรีวิวที่มีคนทำไว้แล้วนั่นเอง
3. มีอะไรจะถามที่ไม่เกี่ยวกับหนังสือไหม??
บรรณารักษ์สามารถช่วยคุณได้นอกเหนือจากเรื่องหนังสือนะ เช่น ช่วยตรวจสอบประวัติ การวิจัยการลำดับวงศ์ตระกูล หรือการจัดรูปแบบเรซูเม่ ซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็น่าตื่นเต้นสำหรับบรรณารักษ์ที่วันๆ มีแต่เรื่องหนังสือเป็นส่วนมาก
4. เชิญตามสบายแต่อย่าเสียงดังเกินไป
ในเรื่องการใช้โทรศัพท์ซึ่งห้องสมุดไม่ห้ามเรื่องคุยโทรศัพท์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ใช้เองต้องมีจิตสำนึกในเรื่องมารยาทด้วย เพราะที่นี่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้และหลายคนต้องการสมาธิ
5. เหมือนที่ Neil Gaiman นักเขียนชื่อดังกล่าวไว้ว่า…
“กูเกิ้ลสามารถให้คำตอบคุณได้เป็นแสนๆ คำ แต่บรรณารักษ์สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องเพียงครั้งเดียว”
6. สุดแสนจะทนกับสิ่งที่ผู้คนถามถึง เช่น “ห้องสมุดนี้ล้าสมัยรึเปล่า??”
ซึ่งในความเป็นจริงห้องสมุดสาธารณะในสหรัฐอเมริกามีมากกว่าร้านแมคโดนัลด์ถึง 16,536 แห่งรวมทั้งสาขาด้วย และ 58% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมีบัตรห้องสมุดไว้ครอบครอง ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมถึงนักเรียน ข้าราชการ หรือห้องสมุดมหาวิทยาลัย
7. เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเจอกับอะไรบ้างในตู้หย่อนหนังสือ
พวกเขามักเจอสิ่งของต่างๆ ในตู้หย่อนหนังสือเมื่อใดก็ตามที่ต้องดึงมันออกมา ไม่ว่าจะเป็นของเล่น เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร ถุงยางอนามัย แม้แต่โดนัทเป็นโหลเลย และครั้งหนึ่งเคยเจอแรคคูนตัวเป็นๆ อยู่ในนั้นด้วย
8. ห้องสมุดที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ จะติดตั้ง “พื้นที่สร้างสรรค์” ไว้บริการ
ห้องปฏิบัติการเหล่านี้เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีมากมาย สำหรับการทำโครงการต่างๆ ที่คุณสามารถทำด้วยตัวเอง พร้อมทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติ ห้องตัดต่อวิดีโอ จักรเย็บผ้า หรืออุปกรณ์งานฝีมือทั้งหมดซึ่งทุกอย่างนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
9. หากพูดถึงการยกเว้นค่าปรับ
ส่วนใหญ่บรรณารักษ์มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องค่าปรับหนังสือหากคุณส่งคืนช้า ถ้ามีเหตุผลที่เพียงพอ เช่น สมาชิกในครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาล แต่จะเป็นการดีที่สุดหากกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ
10. ห้องสมุดหลายแห่งเป็นที่พักพิงชั่วคราวในตอนกลางวันสำหรับคนไร้บ้าน
เป็นสิ่งที่บรรณารักษ์ต่างคิดไม่ตกเลยว่าจะจัดการอย่างไรดี ซึ่งบางทีก็ป้องกันด้วยการห้ามหลับในห้องสมุด หรือบางทีก็ต้องให้นักสังคมสงเคราะห์ยื่นมือเข้ามาช่วย
11. แล้วคุณจะแปลกใจกับจำนวนคนที่มักใช้บัตรเครดิตเป็นที่คั่นหนังสือ
นอกจากบัตรเครดิตแล้วยังมีที่คั่นหนังสือประเภทอื่นที่คาดไม่ถึงอีก เช่น ใบสั่งยาที่ไม่มีการเติมข้อมูล ผ้าพันแผล ภาพถ่าย บัตรหรือกระดาษโน๊ต และธนบัตรหนึ่งดอลลาร์
12. ชาวอเมริกันช่วงอายุระหว่าง 16 ถึง 29 มีแนวโน้มเข้าห้องสมุดบ่อยกว่าผู้สูงวัย
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เมื่อปีที่ผ่านมามีรายงานว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ใช้บริการห้องสมุดน้อยกว่าคนหนุ่มสาวเสียอีก
13. ฉันเคยเป็นอาสาสมัครของ AmeriCorps
บรรณารักษ์ท่านหนึ่งเคยทำงานให้กับองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร หรือพูดคุยกับชายสูงอายุวัย 95 ปีที่เข้ามาเยือนห้องสมุดด้วยความว้าเหว่ หรือแนะนำหนังสือให้กับเด็กชายผู้ที่หมกหมุ่นอยู่กับเรื่องสายลับ เธอบอกว่าเธอรักในการช่วยเหลือผู้คนในแบบที่เป็นธรรม
แต่โดยภาพรวมแล้วอาชีพ ‘บรรณารักษ์’ ถือว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความสุขสำหรับคนรักหนังสือ หรือชอบสถานที่เงียบสงบโดยแท้ ได้พูดคุย พบปะกับผู้คนไม่ซ้ำหน้า แม้จะมีปัญหาจุกจิกบ้างก็ตาม
และเมืองไทยเราปัจจุบันก็มีห้องสมุดสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมายที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้ทุกเพศทุกวัย หากมีเวลาว่างก็อย่าลืมไปใช้บริการกันล่ะ
ที่มา www.rd.com