หากอยากรู้ว่าเคล็ดลับในการเขียน Personal Statement ที่ดีเป็นอย่างไรก็ขอเชิญทางนี้เลย :D
Personal Statement ถือเป็นปราการด่านแรกที่ต้องพบเจอในการสมัครเข้าศึกษาต่อ เป็นจดหมายที่สำคัญสุดๆ เพราะจะติดหลักสูตรและมหาวิทยาลัยในฝันหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้!
ทาง University of Leicester จากประเทศอังกฤษก็มีเคล็ดลับเด็ดๆ มาฝากถึง 6 เคล็ดลับและเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ มากมายจากวงใน ที่จะเปิดเผยให้นักศึกษารู้ว่า Personal Statement ที่ดีควรเป็นอย่างไร? มารับชมไปพร้อมๆ กันค่
ทำไม Personal Statement ถึงสำคัญ?
Personal Statement เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการสมัครศึกษาต่อ มันจึงถูกออกแบบมาเพื่อแสดงให้มหาวิทยาลัยเห็นว่าคุณเหมาะสมกับหลักสูตรที่เลือกเรียนหรือไม่
และไม่ใช่ผู้สมัครทุกคนที่มีสิทธิ์จะผ่านเข้าถึงรอบสัมภาษณ์ Personal Statement จึงเป็นจุดขายและโอกาสที่สำคัญครั้งแรกและครั้งเดียวที่คุณต้องแสดงจุดเด่น ดึงดูดให้ทางคณะกรรมการให้ความสนใจคุณ
#1 ขายความกระตือรือร้นและความหลงใหลในหลักสูตรนั้นๆ
แน่นอนว่าทางคณะกรรมการกำลังมองหาและต้องการนักเรียนที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ และพร้อมจะประสบความสำเร็จในหลักสูตรที่เลือก
เพราะฉะนั้นควรแสดงให้เห็นถึงความสนใจ และความหลงใหลในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง อธิบายว่าความหลงใหลของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยอย่างไร? เหตุใดจึงอยากเรียนและอุทิศตัวเองให้กับสิ่งนี้? คณะกรรมการต่างอยากรู้ว่าคุณจะเป็นส่วนสำคัญในห้องเรียนได้หรือไม่
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคณะกรรมการ:
– จากหลักสูตรคณิตศาสตร์ “เราอยากรู้ว่าคุณสนใจณิตศาสตร์ในเรื่องใด และทำไมถึงอยากเรียนคณิตศาสตร์?”
#2 แสดงให้เห็นว่ามีลักษณะนิสัยที่เหมาะสม
อย่าลืมว่าการจะเรียนจบและประสบความสำเร็จในหลักสูตรที่เลืือกนั้นต้องใช้แรงกาย แรงใจ และความสามารถของผู้เรียนเป็นอย่างสูง ดังนั้นอย่าลืมแสดงให้เห็นว่าคุณมีความมุ่งมั่นและมุ่งเน้นไปที่หลักสูตรอย่างไร
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคณะกรรมการ:
– จากหลักสูตรเกี่ยวกับอาชญาวิทยา “เราต้องการนักเรียนที่มีใจรัก และสามารถทำงานหนักได้”
– จากหลักสูตรภาษาอังกฤษ “Personal Statements ดีๆ ที่ได้อ่าน ส่วนใหญ่จะตรงไปตรงมา แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ทำให้ขณะอ่านนั้นรู้สึกถึงการกระตุ้นและท้ายทายสติปัญหา ซึ่งมันคุ้มค่ามาก”
#3 กล่าวถึงประสบการณ์ที่เคยผ่านมา
ลองถามตัวเองว่าเคยทำกิจกรรม หรือมีประสบการณ์ใดๆ ที่ทำให้ได้เปรียบในการเรียนต่อในหลักสูตรนั้นๆ ? ลองนึกถึงสิ่งที่เคยทำในอดีตที่อาจเกี่ยวข้องกับหลักสูตรของคุณ เพราะคณะกรรมการต้องอยากจะฟังเรื่องราวของคุณ และเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเลือกที่จะอุทิศตัวเองในหลักสูตรนี้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคณะกรรมการ:
– จากหลักสูตรจิตวิทยา “เวลาอ่าน Personal Statements เราสนใจว่าทำไมคุณถึงอยากเรียนจิตวิทยา อะไรทำให้คุณตัดสินใจ? คุณมีทักษะหรือประสบการณ์แล้วหรือยัง? ไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์การทำงานที่เป็นทางการ อาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคุณกับครอบครัวและเพื่อนๆ ก็ได้”
– จากหลักสูตรเกี่ยวกับฟิสิกส์และดาราศาสตร์ “ถ้านักเรียนสามารถแสดงหลักฐานได้จะทำให้คำพูดของพวกเขาเข้มแข็งขึ้นมาก เช่น งานอาสาสมัครในโรงเรียน ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง
บางทีอาจจะเป็นชมรมวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์ หรือการทำงานกับสถาบันฟิสิกส์ ล้วนเป็นหลักฐานที่น่าประทับใจของความหลงใหลและแรงจูงใจในด้านนี้เป็นอย่างดี”
#4 จงมั่นใจ สร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง
นี่เป็นโอกาสของคุณในการขายตัวเองดังนั้นอย่ามัวแต่เขินอาย ทางคณะกรรมการต่างอยากให้ผู้สมัครสร้างความประทับใจให้ได้ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณเชื่อมั่นในตัวเองและความสำเร็จของคุณสามารถสร้างความแตกต่างจากผู้อื่นได้อีกด้วย
ใช้ตัวอย่างเฉพาะจากประสบการณ์ส่วนตัวของเพื่อแสดงทักษะของคุณ จงตอบคำตอบที่เป็นจริงเพราะในตอนสัมภาษณ์คุณอาจถูกถามเกี่ยวกับตัวอย่างและทักษะที่มี
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคณะกรรมการ:
– หลักสูตรเกี่ยวกับอาชญาวิทยา “ทำให้เราประทับใจในแง่บวกและแสดงให้เห็นถึงจรรยาบรรณในการทำงานของคุณ”
– หลักสูตรเกี่ยวกับฟิสิกส์และดาราศาสตร์ “เราให้ความสำคัญกับความสนใจและความสำเร็จนอกหลักสูตร ดังนั้น การเป็นสมาชิกชมรมกีฬาหรือการมีส่วนร่วมในการเล่นวงดนตรี ฯลฯ ทำให้รู้สึกสนใจอยากอ่านต่อ”
#5 พูดถึงแรงบันดาลใจ ความทะเยอทะยาน และปณิธานของคุณ
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณจดจ่อกับการได้รับปริญญา? คณะกรรมการต่างอยากทราบว่าคุณได้คิดถึงและวางแผนชีวิตหลังจบการศึกษาแล้ว และคุณมีเป้าหมายที่อยากจะทำ และใช้หลักสูตรที่เรียนนำไปต่อยอดได้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคณะกรรมการ:
– หลักสูตรคณิตศาสตร์ “คุณมองเห็นอนาคตและอาชีพของตนเองอย่างไรหลังจากจบหลักสูตร? มีความฝันบ้างไหม?”
#6 ใส่ใจในรายละเอียด
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาได้เขียนด้วยไวยากรณ์และการสะกดคำที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษที่ต้องสร้างโครงสร้างของประโยคให้ชัดเจนในการเขียน เพื่อให้คณะกรรมการสามารถติดตามข้อโต้แย้งต่างๆ ได้ อย่าลืมให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสิ่งที่คุณเขียนก่อนส่งใบสมัครด้วยล่ะ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากคณะกรรมการ:
– หลักสูตรเกี่ยวกับวารสารศาสตร์ “คุณควรดูแลและใส่ใจกับ Personal Statement ให้มากพอๆ กับการสมัครงาน”
สิ่งที่ไม่ควรทำ
– การลอกเลียนแบบ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีการคัดกรองข้อความใน Personal Statements ทั้งหมดผ่านระบบตรวจจับที่เชื่อถือได้ คณะกรรมการจะได้รับการแจ้งเตือนหากสงสัยว่ามีการลอกเลียนแบบและมีสิทธิ์ปฏิเสธใบสมัครของคุณ
– อย่าอ้างถึงชื่อมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรใดๆ เพื่อป้องกันการผิดพลาดหากส่ง Personal Statement ให้หลายๆ มหาวิทยาลัย
– ไม่ควรกำหนดหัวข้อเรื่อง ให้แสดงสิ่งที่คุณเข้าใจและสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แทน
– แทนที่จะส่งข้อความเพียงบล็อกเดียว ตรวจสอบให้แน่ใจว่างานของคุณมีการจัดวางที่ดีและอ่านง่าย
ที่มา: le.ac.uk