สหรัฐอเมริกาและแคนาดาต่างเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเรียนต่อต่างประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันความป๊อปปูล่าในหมู่นักเรียนต่างชาติที่มีต่อสหรัฐฯ จะลดลงหรืออยู่ในอัตราคงที่ แต่กระนั้นสหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆ อยู่ดี
ในขณะเดียวกัน ความนิยมในการเรียนต่อที่ประเทศแคนาดาก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่กำลังพิจารณาทั้งสองตัวเลือกนี้ นี่คือบทความที่คุณไม่ควรพลาด!
ในบทความนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณามาเปรียบเทียบให้เห็นว่าระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดา ประเทศไหนที่ให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติ โดยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่นั่น
ว่าแล้วก็เลื่อนลงไปดูพร้อมกันเลย ^^
1. ความหลากหลาย
ในปี 2018 มีรายงานจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาประมาณ 1.09 ล้านคน ส่วนที่แคนาดามีจำนวนนักศึกษาต่างชาติอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ หรือราว 570,000 คน
ดังนั้น หากอนุมานจากตัวเลขนี้ก็จะพบว่าสหรัฐฯ มีเปอร์เซ็นต์ความหลากหลายมากกว่า และเป็นแหล่งรวมประสบการณ์เรียนต่อต่างประเทศที่ดีกว่า
2. การจัดอันดับมหาวิทยาลัย
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสหรัฐฯ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกหลายแห่ง อ้างอิงจากข้อมูลของ QS World University Rankings 2019 พบว่าใน 10 อันดับแรกเป็นมหาวิทยาลัยที่มาจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
โดยมีสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้รับการโหวตให้เป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยโลก ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอยู่ในอันดับที่ 2 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอันดับ 3 California Institute of Technology (Caltech) อันดับ 4 และมหาวิทยาลัยชิคาโกรั้งอยู่ในอันดับ 9 ในภาพรวมมีมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกากว่า 170 แห่งที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก
ส่วนมหาวิทยาลัยในแคนาดามี 3 สถาบันใน 100 อันดับแรก โดย University of Toronto อยู่ในอันดับที่ 28 ตามมาด้วย McGill University อันดับที่ 33 และในภาพรวมมีสถาบันอุดมศึกษาจากแคนาดาทั้งหมด 26 แห่งที่จัดอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดในโลก
3. การขอวีซ่านักเรียน
อย่างที่ทราบกันดีว่ากระบวนการยื่นขอวีซ่ารวมไปถึงข้อกำหนดวีซ่าสำหรับสหรัฐอเมริกานั้นค่อนข้างใช้เวลานานและมีความซับซ้อนรอบด้าน ซึ่งตรงกันข้ามกับแคนาดาที่กระบวนการยื่นขอวีซ่ามีความง่ายกว่ามาก
4. ค่าเล่าเรียน
ใบปริญญาจากสหรัฐอเมริกาเป็นที่ต้องการอย่างมาก และแน่นอนว่าย่อมมาพร้อมกับค่าเล่าเรียนที่สูงเอาการ แต่ค่าเล่าเรียนในแคนาดานั้นจะถูกกว่าสหรัฐฯ โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ US$ 7,500 ถึง US $22,000 (ประมาณ 230,000 – 676,000 บาท) ในขณะที่ค่าเล่าเรียนในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ US$26,000 (ประมาณ 799,000 บาท)
5. ทุนการศึกษา
มีทุนการศึกษาหลากหลายประเภท รวมทั้งช่องทางการขอความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่มหาวิทยาลัยในแคนาดา แต่ในทางกลับกันโอกาสในการขอทุนสำหรับนักศึกษาในสหรัฐฯ มีไม่มากเท่าที่ควร
6. ค่าครองชีพ
ค่าครองชีพในสหรัฐฯ จะสูงกว่าที่แคนาดา โดยประมาณค่าครองชีพของนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ อยู่ที่ US$10,000 และ US$12,000 ต่อปี (ประมาณ 307,000 และ 368,000 บาท) เฉลี่ยอยู่ที่ US$700 ถึง US$1,000 ต่อเดือน (ประมาณ 21,000 – 30,000 บาท) ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับงบประมาณของนักเรียนเอง รวมไปถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตส่วนบุคคลด้วย
นักศึกษาต่างชาติในแคนาดามีค่าครองชีพที่อยู่ที่ประมาณ US$7,500 (ประมาณ 230,000 บาท) และเป็นจำนวนเงินที่นักเรียนต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองสามารถจัดแจงตามนี้ได้เมื่อทำเรื่องยื่นขอวีซ่าเรียนต่อในแคนาดา อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายจริงอาจสูงกว่านี้เล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างมอนทรีออล หรือแวนคูเวอร์
7. การจ้างงานหลังจากสำเร็จการศึกษา
แคนาดายินดีต้อนรับนักศึกษาต่างชาติและมีความต้องการเพิ่มจำนวนนักศึกษาเหล่านี้ในสถาบันของตนอยู่แล้ว ดังนั้นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการมอบโอกาสการจ้างงานหลังจากที่นักเรียนต่างชาติเหล่านี้สำเร็จการศึกษา และปูทางไปสู่การได้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในแคนาดา
แคนาดาอนุญาตให้นักเรียนต่างชาติทำงานที่นั่นเป็นระยะเวลาสูงสุดสามปีหลังจากสำเร็จการศึกษาผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า Post-Graduation Work Permit (PGWP) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักเรียนสามารถหางานทำในแคนาดาได้ แต่ยังเป็นการเปิดช่องทางสู่การมีถิ่นที่อยู่ถาวร และนำไปสู่การเป็นพลเมืองของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับสหรัฐอเมริกา เมื่อทรัมป์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้โอกาสในการอ้ารับนักศึกษาต่างชาติลดน้อยลง โดยนักเรียนต่างชาติในสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา เว้นแต่นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทหรือองค์กร
นอกจากนี้ มุมมองการบริหารของสหรัฐฯ ที่มีต่อชาวต่างชาติในปัจจุบันเป็นผลเชิงลบอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของจำนวนนักศึกษาต่างชาติในระดับอุดมศึกษาที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: scholarship-positions