ความกลัวเป็นหนึ่งในความรู้สึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และบางครั้งมันนำไปสู่โรคทางใจที่ในปัจจุบันมีการศึกษาอย่างกว้างขวางเพื่อหาทางบำบัดและเยียวยา
มีผู้คนมากมายที่ต้องต่อสู้กับความวิตกกังวลและคิดว่าความกลัวนั้นเป็นเพียงพลังในด้านลบที่ต้องกำจัดให้หมดไป ทั้งที่ความจริงแล้วมันอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะมีหลายกรณีที่ความกลัวสามารถส่งผลดีต่อตัวเราได้
เช่นว่า…
ความกลัวสามารถช่วยให้ลดน้ำหนักได้
ครั้งหนึ่ง นักสรีรวิทยาของมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์แห่งลอนดอนได้ทำการเก็บข้อมูลแล้วพบว่า เมื่อผู้คนรับชมหนังสยองขวัญอย่าง The Shining หรือ The Exorcist กลุ่มตัวอย่างนี้สามารถเผาผลาญแคลอรีได้มากถึง 113 แคลฯ ซึ่งเท่ากับการเดินอย่างต่อเนื่องครึ่งชั่วโมง
พวกเขาให้คำอธิบายว่า เนื่องจากเมื่อคุณรู้สึกกลัว อัตราการเต้นของชีพจรที่สูงขึ้นจะช่วยเร่งการไหลเวียนของเลือดและอะดรีนาลีน ทำให้ไขมันและน้ำตาลในร่างกายถูกดึงมาใช้ในกระบวนการเผาผลาญนั่นเอง
ความกลัวช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน
ในการวิจัยของของมหาวิทยาลัยโคเวนทรีในสหราชอาณาจักรที่ต่อยอดจากกลุ่มตัวอย่างที่ดูหนังสยองขวัญ พวกเขาได้ทดลองเก็บเลือดของคนกลุ่มนี้มาศึกษาและพบว่า ความรู้สึกกลัวช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณยิ่งแข็งแรงมากขึ้นด้วย
ความกลัวทำให้คุณค้นพบพลังและเปลี่ยนมันเป็นแรงจูงใจที่เข็มแข็ง
ไม่เพียงแค่สารอะดรีนาลีนเท่านั้นที่จะหลั่งออกมาเมื่อคุณรู้สึกหวาดกลัว แต่ยังมีสารอื่นๆ เช่น เซโรโทนินที่ช่วยให้สมองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างเช่น หากคุณเดินกลับบ้านในทุกๆ วันโดยเลือกใช้เส้นทางเดิมๆ ความรู้สึกคุ้นเคยจะส่งผลให้คุณลดความระแวดระวัง ทว่าเมื่อต้องเดินไปบนเส้นทางใหม่ที่ค่อนข้างเปลี่ยว สมองของคุณจะทำงานได้อย่างเต็มที่ และทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมากยิ่งขึ้น
ความกลัวช่วยสานสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี
เมื่อคุณกลัว ฮอร์โมนออกซิโทซินจะหลั่งออกมาซึ่งซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ ดังนั้นแล้ว อาจเป็นเหตุผลที่หลายคนชอบชวนคนที่สนใจไปดูหนังสยองขวัญก็ได้นะ (ฮ่า)
ความกลัวช่วยให้คุณมีสมาธิและจดจ่อกับอะไรได้นานๆ
ในช่วงเวลาที่คุณกำลังกังวลกับบางสิ่ง นอกจากอะดรีนาลีนที่กำลังทำงาน ยังมีสารอีกชนิดที่เรียกว่า “นอร์อิพิเนฟริน” ถูกปล่อยออกมาพร้อมกัน ซึ่งสารตัวนี้จะช่วยให้คุณมีสมาธิแทนความตื่นตระหนก การทำงานของร่างกายตื่นตัวเต็มที่ และสามารถมองเห็นทุกอย่างชัดเจนขึ้นได้
ความกลัวช่วยให้เราหาทางออกของปัญหาได้เร็วขึ้น
เมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขัน ความกลัวจะบังคับให้สมองตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไขในทันที จากปกติที่เรามักจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์อย่างละเอียด สัญชาติญาณการเอาตัวรอดจะช่วยให้คุณหลุดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยได้เร็วกว่า
บางครั้งความกลัวทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองในเชิงบวก
ความเสี่ยงด้านสุขภาพคือหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เมื่อผู้คนเริ่มรับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย พวกเขาจะพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น เช่น เพราะกลัวที่จะเจ็บป่วย หลายคนจึงเลือกหันมาออกกำลังกายและดูตัวเองตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดนั่นเอง
ความกลัวเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เราพัฒนาตัวเอง
มีสภาวะทางจิตใจที่เรียกว่า Cronos syndrome ซึ่งเป็นอาการที่ผู้คนจะหวาดกลัวต่อการถูกแทนที่ในความสัมพันธ์ต่างๆ นักจิตวิทยาเผยว่าหากมีสภาวะนี้ในปริมาณที่พอเหมาะ จะช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน หากไม่มีสิ่งนี้หลายคนจะรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ดีพอแล้วจนไม่อยากจะพัฒนาอะไร
เห็นไหมว่าจริงๆ แล้วการมีความกลัวอยู่ในหัวใจไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และไม่จำเป็นที่คุณจะต้องขจัดมันให้หมดไป เพราะในมุมหนึ่งเมื่อมีในปริมาณที่เหมาะสม มันจะช่วยคุณได้ในหลายๆ ด้านเลยล่ะ
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีความกลัวที่มากเกินกว่าจะรับมือไหว ลองหาใครสักคนมาร่วมแบ่งปันความรู้สึกเหล่านี้ ไม่แน่ว่ามันอาจเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ดีทำให้คุณรู้สึกมีกำลังใจที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นก็ได้นะ :)
ที่มา: brightside