ฤดูสอบใกล้เข้ามาทุกที หลายๆ คนอาจเริ่มกังวลแล้วว่าเนื้อหาเยอะขนาดนี้ จะไปจำไหวได้ยังง้ายยย!
ขอบอกเลยว่า สบมยห. สบายมากอย่าห่วง เพราะคราวนี้ Scholarship.in.th มีเคล็ด(ไม่)ลับในการอ่านหนังสือมาฝากล่ะ!
1. ข้ามเนื้อหาไปอ่านหน้าสรุปก่อน
ปกติแล้วหน้าสรุปจะเป็นการกล่าวถึงเนื้อหาทังหมดในภาพรวมอย่างย่อๆ แถมยังใช้ภาษาง่ายๆ อีก ดังนั้นการอ่านสรุปก่อนจึงสามารถช่วยให้เราเข้าใจความเชื่อมโยงของเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น!
2. ใช้ปากกาไฮไลต์เพื่อเน้นจุดสำคัญ
ห้ามดูถูกพลังของการไฮไลต์เด็ดขาดเลยเชียว เพราะถ้าไฮไลต์เป็น โดยเน้นไปที่ส่วนสรุปที่สำคัญ (และไม่มากไม่น้อยเกินไป) จะช่วยให้พอกลับมาอ่านใหม่ ก็สามารถได้ข้อมูลที่ต้องการเพียงมองผ่านแค่แวบเดียว!
3. ศึกษาสารบัญและหัวข้อย่อย
การดูสารบัญว่ามีหัวข้ออะไร ใหญ่-ย่อยยังไงบ้างจะช่วยให้เราเห็นภาพรวม และจุดเชื่อมโยงของเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น แถมยังช่วยให้ตัดสินใจเลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่สำคัญ หรือเรื่องที่ชอบได้อีกด้วย อิอิ
4. ขวนขวายเพิ่มเติม
โลกข้างนอกตำราเรียนที่ใช้ยังมีอะไรอยู่อีกแยะ ลองหาอ่านหนังสือ หรือบทความที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนจากข้างนอกอ่านดู ไม่แน่ว่าอาจจะเจอเนื้อหาคล้ายๆ กัน แต่เป็นเวอร์ชั่นที่สนุกกว่าโขก็ได้! ฮี่ๆ
5. อย่าอ่านทุกคำ
การอ่านให้ละเอียดยิบดูเผินๆ แล้วจะเป็นประโยชน์ แต่เปล่าเลย! มันจะทำให้สมองเราต้องแบกภาระเกินความจำเป็นจนเกิดความล้าต่างหาก ให้ใช้วิธีการอ่านผ่านๆ (Skimming) พอให้จับใจความได้ดีกว่าเนอะ จะได้ไม่เบื่อด้วย
6. เขียนสรุปด้วยคำพูดของตัวเอง
การเขียนสรุปอาจฟังดูน่าเบื่อ แต่เชื่อเถอะว่าช่วยได้มากๆ เลยล่ะ! เพราะพอถึงช่วงใกล้สอบ แทนที่จะต้องเปิดตำราทั้งเล่มเพื่อทบทวน ก็จะได้มีสรุปสั้นๆ ที่ใช้ภาษาอ่านง่ายมาไว้อ่านแทน
7. อภิปราย ถกเถียงกับผู้อื่น
ยิ่งมีการพูดคุยกับเพื่อนๆ ถึงเนื้อหาในบทเรียนมากเท่าไหร่ ยิ่งจำได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แถมยังได้เติมข้อมูลที่ขาดไปของกันและกันด้วย ยิ่งถ้าแทรกมุกตลกไปด้วยนี่ยิ่งจำได้ขึ้นใจเลยล่ะ เพราะคนเรามักจำเรื่องขำขันได้ดีอยู่แล้ว ฮี่ๆ
8. จดคำถามหรือข้อสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างอ่าน
การตั้งคำถามนับว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียว แค่อ่านอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ให้ลองใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วหาคำตอบด้วยตัวเองดู เช่น
– ใจความหลักที่ต้องการสื่อคืออะไร?
– จุดประสงค์ของบทนี้คืออะไร?
– ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับข้อความที่ผู้เขียนต้องการจะสื่ออย่างไร?
อ่านจบแล้วก็อย่าลืมลองเอาแปดวิธีนี้ไปปรับใช้ดูนะจ๊ะ
รับรองว่าช่วยได้ดีแน่นอน ฟันธง! อิอิ
ที่มา: TeenMThai