หากพูดถึงการศึกษาในต่างประเทศ ตัวเลือกที่ผู้ปกครองไทยนิยมส่งบุตรหลานไปศึกษา ทั้งแบบตั้งแต่วัยเยาว์ หรือศึกษาต่อในระดับไฮสคูลหรืออุดมศึกษา มักจะหนีไม่พ้นสหรัฐหรือสหราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นที่คุ้นเคยอย่างดี และไม่มีปัญหาในเรื่องการปรับตัวด้านภาษาอย่างแน่นอน มาดูกันเลยว่ามีประเทศใดบ้าง
เอสโตเนีย (Estonia)
เอสโตเนียอยู่ในระดับต้นๆของโลกในด้านการอ่าน และวิชาคณิตศาสตร์ และติดอันดับ 6 ของโลกในด้านวิทยาศาสตร์ แต่หากเทียบเฉพาะในกลุ่มประเทศ EU เอสโตเนียคืออันดับ 2-4 ในเกือบจะทุกวิชาที่เกี่ยวข้องกับสายวิทย์ นับแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต ดูเหมือนว่าเอสโตเนียจะผสมผสานความเก่งกาจทางทฤษฎีของนักวิทย์โซเวียตเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากฝั่งตะวันตกเอาไว้ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะในด้าน IT นอกจากนี้ เอสโตเนียยังรับอิทธิพลแนวคิดด้านการศึกษาจากต้นแบบที่คนไทยยกย่องกัน อย่างฟินแลนด์ เข้ามาไว้ในระบบการศึกษาของตัวเองอีกด้วย
โปแลนด์ (Poland)
หากกำลังมองหาที่เรียนในระดับตั้งแต่ประถม-มัธยม นี่เป็นประเทศที่จะไม่ผิดหวัง โปแลนด์ให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก และรัฐบาลสนับสนุนการพัฒนา ปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี 1999 จนทำให้ปัจจุบันประเทศนี้ติดอันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาก่อนอุดมศีกษาเป็นอันดับ 4 ของยุโรปและติด top 10 ของโลก เรียกว่า ถ้าวัดกันเฉพาะการศึกษาแบบปวช. แล้ว โปแลนด์ผลิตช่างฝีมือและผู้เชี่ยวชาญในสายงานบริการที่สำคัญๆให้แก่กลุ่ม EU เลยทีเดียว และไม่น่าแปลกใจที่คนงานชาวโปแลนด์จะเป็นที่นิยมในหมู่นายจ้างในประเทศยุโรปตะวันตก
เกาหลีใต้ (South Korea)
ไม่น่าเชื่อว่า นี่คือประเทศที่เมื่อประมาณปี 1970 ยังมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อประชากรแค่ 200 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหัวเท่านั้น ภายในระยะเวลาเพียง 30-40 ปี เกาหลีใต้พลิกจากกรรมกรผู้ใช้แรงงานธรรมดา กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหนักอย่างการผลิตรถยนต์หรือเรือรบ ไปจนถึงซอฟต์แวร์และสินค้าไอทีต่างๆ จนแบรนด์สินค้าอิเล็กโทรนิกส์ที่เคยถูกญี่ปุ่นครองแชมป์ ปัจจุบันกลายเป็นเกาหลีใต้ที่ได้สัดส่วนสำคัญในตลาดไปแทน การพัฒนาการศึกษาของเกาหลีใต้จนปัจจุบันมาตรฐานอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เป็นความพยายามของคนหลายเจเนอเรชั่นที่พยายามปลูกฝังเรื่อง “ความอดทน” และ “การทำงานหนักโดยไม่บ่น” เพื่อแลกกับความสำเร็จ แม้แต่นักเรียนระดับประถมที่เกาหลีใต้ส่วนใหญ่ ก็เรียนพิเศษจนครบ 7 วันต่อสัปดาห์
ไอร์แลนด์ (Ireland)
ระดับการอ่านออกเขียนได้ของคนไอร์แลนด์ทั้งชายและหญิงมีสัดส่วนถึง 99% ของทั้งประเทศ และสำหรับคนท้องถิ่น การศึกษาทุกระดับฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย และโดยเฉลี่ยตลอด 10 ปีหลังที่ผ่านมา ไอร์แลนด์ติด top 10 ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดของโลก ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตรัฐบาลประเทศไอร์แลนด์ที่ลงทุนในการพัฒนาการศึกษามากถึง 8-9 พันล้านยูโรต่อปีทีเดียว นี่เป็นตัวเลือกที่ดีมาก หากคุณกำลังมองหาที่เรียนต่อระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร ดับลินมีมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็ง และตัวเมืองเองก็ติดอันดับเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของโลกหลายสมัย รวมทั้งผู้คนชาวไอร์แลนด์ได้รับการยกย่องจากหลายโพลล์ ว่าเป็นคนที่มีอัธยาศัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด
เดนมาร์ก (Denmark)
เดนมาร์กแบ่งระบบการศึกษาในประเทศออกเป็นหลายขั้น หลายแผนการศึกษา เพื่อให้คนมีสิทธิเลือกได้หลากหลายตามที่ต้องการ เริ่มตั้งแต่ เตรียมประถม, ประถม, มัธยมต้น, มัธยมปลาย, และการศึกษาผู้ใหญ่ ในส่วนมัธยมนั้น ตั้งแต่มัธยมต้นก็แบ่งออกเป็นทั้งสายวิชาการ, สายเตรียมอาชีวะ, สายพาณิชย์, สายเทคนิค, และสายแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยคนเดนมาร์คต้องเรียนหนังสือจนถึงอายุ 16 ปี และเลือกไม่เรียนต่อหลังจากนั้นได้ แต่คนกว่า 82% เลือกที่จะต่อไปจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย จึงไม่่น่าแปลกใจที่ UN จัดอันดับเดนมาร์กเป็นประเทศที่แข็งแกร่งในด้านการศึกษาในอันดับต้นๆของโลกทุกปี สำหรับชาวต่างชาติ การปรับตัวที่นี่เป็นเรื่องง่าย เพราะคนมากกว่า 90% พูดภาษาอังกฤษได้ และบ้านเมืองที่นี่สงบ ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัยพ์สินอยู่ในขั้นสูง ผู้ปกครองสามารถวางใจได้สบายๆ
อิสราเอล (Israel)
ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะในด้าน IT เทคโนโลยี แล้วไม่พูดถึงอิสราเอล ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะประเทศเล็กๆที่รายล้อมด้วยศัตรูทางการเมืองนี้ คือ ผู้นำที่คิดค้นเทคโนโลยีในระบบนาโน และเป็นผู้นำในด้านการก่อตั้งธุรกิจแบบ startup ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกจดทะเบียนในอิสราเอล รัฐบาลให้การสนับสนุนพลายพันล้านเหรียญต่อปี เพื่องานวิจัยต่างๆ จากรายงานของหน่วยงาน OECD ชาวอิสราเอลติดอันดับ 2 ของโลกในฐานะชนชาติที่มีเปอร์เซ็นต์ระดับการศึกษาเฉลี่ยทั่วถึงสูงที่สุดในโลก และการอ่านออกเขียนได้แทบจะ 100% ทั้งคนอิสราเอลที่พูดภาษาอารบิคและภาษาฮิบรู ต่างได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน อิสราเอล ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ หากคุณต้องการแนวคิดธุรกิจหรือความรู้ไอทีขั้นสุดยอด แต่ไม่แนะนำการศึกษาระดับประถมและมัธยม เพราะอย่างน้อยในด้านความปลอดภัย ที่นี่อาจจะไม่เหมาะกับผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
เบลเยี่ยม (Belgium)
ข้อดีที่คุณควรจะเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยี่ยม ก็คือ การผสนผสานลักษณะนิสัยและแนวคิดที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงของกลุ่มคน Flemish ที่หยิ่งยโสแต่หัวก้าวหน้า กับความมีระเบียบวินัยในตัวเองสูงอย่างกลุ่มที่พูดภาษาเยอรมัน และความมีศิลปะและอิสระเสรีภาพขั้นสูงแบบกลุ่มคนที่พูดภาษาฝรั่งเศส เบลเยี่ยมจึงไม่เหมือนใคร และมีตัวเลือกให้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย หรือระดับไฮสคูลมากมายหลายสาขา ด้านที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษ คงหนีไม่พ้นด้านงานบริการ เช่น บริหารจัดการโรงแรม, หรือสายวิทย์อย่าง แพทยศาสตร์ เคมี ฯลฯ UN จัดอันดับเบลเยี่ยมไว้ที่อันดับ 18 ในปีที่ผ่านมา
สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic)
การศึกษาที่เช็ค โด่งดังในแวดวงยุโรปตะวันออกมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเช็คโกสโลวาเกียเดิม โดยเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งเป็นรากฐานแต่เดิม ผู้คนที่นี่ใส่ใจในเรื่องของการศึกษา และแม้กฏหมายจะบังคับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงอายุ 15 ปี แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป ข้อดีอย่างหนึ่งของการเลือกมาเรียนที่นี่ คือ บ้านเมืองที่นี่สงบเงียบมาก มีความสวยงาม และมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากมายให้ชม นอกจากปราสาทที่สวยงาม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อีกมากมาย เรียกว่า ได้ทั้งวิชาการ และการพักผ่อนไปในตัว อีกด้วย
ไต้หวัน (Taiwan)
ไต้หวัน เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ หากคุณอยากได้บรรยากาศคล้ายญี่ปุ่น แต่ไม่อยากไปเรียนต่อ อยู่นานๆคนเดียวที่ญี่ปุ่น เพราะคนไต้หวันชอบช่วยเหลือและอัธยาศัยดีมาก แต่มีความเป็นระเบียบวินัยสูงผิดไปจากความเป็นคนจีนปกติ รัฐบาลไต้หวัน พลิกประเทศจากประเทศที่ผลิตผู้ใช้แรงงานระดับล่างในช่วงปี 1960 มาเป็นประเทศผู้นำในด้านองค์ความรู้สมัยใหม่และวิทยาการระดับสูง ในปี 2006 ไต้หวันถึงกับติดอันดับ 1 ของโลกในด้านคณิตศาสตร์เลยทีเดียว ข้อดีที่สำคัญที่สุดอีกอย่าง คือ ไต้หวันเป็นประเทศที่รักการอ่านหนังสือมากๆ โปรแกรมการเรียน เน้นให้ศึกษาค้นคว้า และอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก และห้องสมุดถือเป็นสถานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเรียนที่ไต้หวัน แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากโลกภายนอกในเรื่องการเน้นเรียนจนเด็กไม่มีพักผ่อนและไม่มีเวลาคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆของตัวเอง แต่จริงๆแล้ว โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ไต้หวัน มีอิสระในการจัดการและร่างแผนการเรียนของตัวเองโดยที่รัฐไม่ได้บังคับเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด ทำให้ไต้หวันมีความหลากหลายและมีทางเลือกสำหรับการเรียนมากมายทั้งสายวิทย์และสายศิลป์
รายชื่อทั้ง 9 ประเทศที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นการจัดอันดับประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดของโลก อันดับ 1-9 แต่เป็นกลุ่มประเทศที่คนพูดถึงน้อยกว่าปกติ ทั้งที่มีระบบการศึกษาที่ดีไม่แพ้ชาติดังๆ ในด้านการศึกษาอย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นในเอเชีย หรือเยอรมัน อังกฤษ และฝรั่งเศสในยุโรป ตัวเลือกที่กล่าวมา ลิสต์รายชื่อนี้ จึงไม่ได้รวมประเทศอย่างฟินแลนด์ ที่คนไทยในระยะหลังต่างพากันพูดถึงบ่อยๆ ในแง่แบบแผนการศึกษา หากแต่เพียงแนะนำในส่วนประเทศอื่นๆที่จะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้หากเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ ที่ไม่จำเป็นต้องแพงมากอย่างอังกฤษ-อเมริกา แต่ได้คุณภาพที่ดีอย่างฟินแลนด์
ที่มา: campus-star