สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ชาว ScholarShip.in.th วันนี้พบกับเรื่องราวน่ารู้รอบโลกกันอีกครั้ง เกี่ยวกับสาวน้อยที่มีอายุเพียง 17 ปี แต่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ
เป็นที่น่าทึ่งไปทั่วโลกเลยค่ะกับสาวน้อยคนนี้ “มาลาลา ยูซัฟไซ” ชาวปากีสถาน เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์!!
เพื่อนๆคงทึ่งกันสินะคะว่า ทำไมคนอายุแค่นี้ถึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้ ไปดูกันเลยค่ะว่าเพราะอะไร!
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 เด็กสาวคนนี้ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาเยาวชนโลก และทิ้งท้ายประโยคเด็ดไว้ว่า “เด็ก 1 คน, ครู 1 คน, หนังสือ 1 เล่ม, และปากกา 1 ด้าม สามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้ การศึกษาคือหนทางแก้ไขวิธีการเดียว การศึกษาต้องมาเป็นอันดับแรก” จนทำให้ชื่อเด็กสาวคนนี้ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก และได้รับรางวัลต่างๆมากมาย
จนกระทั่งล่าสุด คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลได้ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2014 ให้แก่เธอ ร่วมกับ นาย ไกลาช สัตยาร์ธี นักรณรงค์เพื่อสิทธิเด็ก จากอินเดีย
“มาลาลา ยูซัฟไซ” จึงนับว่าเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมา รางวัลนี้จะมีแต่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้ จึงทำให้เห็นว่า ปัจจุบันสังคมได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของเด็กและเยาวชนมากขึ้น
ในเวทีประชุมสมัชชาเยาวชนโลก เธอได้เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของเธอ ในวัย 11 ปี เธอได้เริ่มต้นคัดค้านกลุ่มติดอาวุธตาลิบันที่เข้ายึดครองมิงโกราบริเวณหุบเขาสวัต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน เพราะจำกัดสิทธิต่างๆของเพศหญิง เธอเขียนบันทึกลงบล็อกของบีบีซีภาษาอูรดู ภายใต้นามปากกา “กุล มาไค” โดยการสนับสนุนของพ่อเธอเอง ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งและยังเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิการศึกษาอีกด้วย
ช่วงหนึ่ง ครอบครัวของมาลาลาต้องอพยพหนีภัยสงคราม หลังจากที่รัฐบาลเพิ่มมาตรการขับไล่กลุ่มตาลิบันให้พ้นจากหุบเขาสวัต ต่อมาเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดผ่านพ้น กลุ่มตาลิบันล่าถอย เธอจึงได้กลับมาบ้านอีกครั้ง และเริ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิการศึกษาของผู้หญิงอย่าง “เปิดหน้า” ให้สัมภาษณ์สื่อมากมายหลายแห่ง รวมทั้งสื่อชั้นนำของโลกอย่างนิวยอร์กไทมส์และบีบีซีก็ด้วย
การต่อสู้ของเธอจึงแลกมากับชีวิตที่ไม่ปกติ หลังจากใช้การข่มขู่ให้เธอหยุดเคลื่อนไหวถึง3ครั้ง 3 ครา จนในที่สุด ผู้นำกลุ่มตาลิบันก็ตัดสินใจให้ปลิดชีวิตเด็กหญิงมาลาลา ขณะที่รถโรงเรียนกำลังพาเด็กหญิงและเพื่อนๆ มุ่งหน้าไปโรงเรียน รถถูกหยุด มือปืนขึ้นมาถามหาเธอ และจ่อยิงศีรษะในระยะกระชั้นชิด ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นคือ มาลาลารอดชีวิต และได้รับการผ่าตัดช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่โรงพยาบาลควีนเอลิซาเบธ ประเทศอังกฤษ
หลังจากนั้น เธอก็กลับมาทำหน้าที่นักเคลื่อนไหวอีกครั้ง พร้อมๆกับเขียนหนังสือที่ชื่อว่า “I AM MALALA” เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ในการศึกษา เป็นหนังสือที่สามมารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เลยที่เดียว
ถ้าเพื่อนๆ สนใจเรื่องราวของเด็กผู้หญิงที่มีความสามารถมากๆคนนี้ ก็สามารถไปหาซื้ออ่านกันได้นะคะ เพราะเพื่อนๆจะได้รู้ว่าทำไมเธอถึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาครองได้ด้วยวัยเพียง 17 ปี ^^
Credit: มติชน