สำหรับการเรียนการสอนนั้น การจดโน๊ตก็เรียกได้ว่าสำคัญมากๆ เพราะว่าเป็นการสรุปสิ่งต่างๆ ที่เราเรียนไว้ทบทวน ไม่ให้เราลืมบทเรียนนั้นๆ ได้ง่ายๆ
โดยเฉพาะบางรายวิชาที่มีรายละเอียดเยอะๆ แล้วล่ะก็ การจดโน๊ตถือว่าเป็นตัวกำหนดเกรดของผู้เรียนได้เลยทีเดียว เพราะถ้าใครที่มีโน๊ตที่ดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง เวลาอ่านทบทวนอะไรก็ทำได้ง่าย สะดวกกว่าคนอื่นนั่นเอง
วันนี้เราก็มีเทคนิคการจดโน๊ตจากเด็กๆ มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น!! มาฝากกันจ้า เอาไปใช้กันได้ตามสบายเลยนะจ๊ะ
หัวใจหลักแรกของการจดโน๊ตเลยนั้นก็คือ ความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยครับ
1. เริ่มแบ่งหัวข้อกันเลย
ไม่จำเป็นที่จะต้องจดทุกๆ คำพูดของอาจารย์ผู้สอนหรอกนะครับ หัวใจหลักของการจดโน๊ตก็คือ การจับประเด็นและใจความสำคัญหลักให้ได้ แล้วเรียบเรียงลงในสมุด ซึ่งการแบ่งหัวข้อเวลาจดโน้ตจะทำให้เราเรียบเรียงความสัมพันธ์ของเนื้อหาได้เป็นลำดับมากขึ้น การแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย ทำให้เราใส่รายละเอียดของแต่ละอย่างได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
2. เว้นที่ว่างไว้บ้าง
การไม่เว้นที่ว่างนั้นนอกจากจะทำให้หน้ากระดาษอัดเเน่น เต็มไปด้วยตัวอักษรแล้ว ยังทำให้อ่านยากและดูไม่น่าอ่านอีกด้วย การเว้นบรรทัดระหว่างหัวข้อ หรือเว้นที่ไว้สำหรับประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ ทำให้เราสามารถจดเพิ่มเติมตอนอ่านทบทวนได้ และนอกจากนี้ยังทำให้อ่านสบายตาขึ้นด้วยล่ะ
3. ซีรอกซ์มันซะเลย
สำหรับบางรายวิชาที่ยากต่อการเขียนหรือวาดรูปเช่น วิชาภูมิศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ ที่มีพวกแผนที่ หรือ บุคคลสำคัญๆ ก็ไม่ต้องไปจดมันหรอกครับ เข้าร้านถ่ายเอกสารแล้วนำมาแปะลงสมุดโน๊ตไปเลย เพราะการจดเองนอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้ว ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ตรง และคลาดเคลื่อนกันได้นะครับ
4. สารบัญนั้น…สำคัญไฉน
ถึงจะเป็นแค่สมุดโน๊ตก็ควรมีสารบัญนะครับ โดยเว้นหน้าแรกของสมุดไว้ เขียนหัวเรื่อง และเลขหน้าไว้ (เหมือนหนังสือ) แต่จะเพิ่มรายละเอียดลงไปนิดนึงว่า หัวเรื่องนี้มีรายละเอียด หรือประเด็นย่อยๆ อะไรบ้างภายในหนึ่งบรรทัด เพื่อเวลาทบทวนไม่เคลียร์ประเด็นไหน ก็สามารถเปิดหาได้ง่ายนะครับ
5. ที่สำคัญต้องตัดจบหัวข้อนั้นๆ ได้ด้วย
เวลาสรุปเรื่องๆ หนึ่ง พยายามให้จบภายในหนึ่งหน้า วิธีนี้ก็เพื่อจัดระเบียบข้อมูล ไม่ให้เวลาอ่านแล้วทำให้จำสับสนนั่นเอง พยายามเลือกใช้คีย์เวิร์ด ตัวย่อ เพื่อที่จะไม่ทำให้หนึ่งหน้ากระดาษดูอัดแน่นจนเกินไป และยังดีเวลาอ่านแบบกวาดสายตาด้วยนะครับ
6. สร้างสไตล์การจดของตัวเองขึ้นมา
วิชาไหนจะจดแบบไหน กำหนดเองให้ง่ายต่อการอ่าน และจดจำเนื้อหา
7. จดให้สวยงาม
ถ้าเปิดมาเจอแต่ตัวหนังสือมาพรึ่บบบ มันก็ไม่น่าอ่านกันใช่มั้ยล่ะ สำหรับในส่วนของลายมือก็สำคัญนะครับ แค่ทำให้ตัวอักษรเป็นระเบียบ เขียนอ่านให้ออก ชัดเจน นอกจากจะทำให้อ่านง่ายแล้ว ยังดูเป็นระเบียบน่าอ่านอีกด้วยนะครับ
ทีนี้เรารู้เทคนิคกันแล้ว ก็ลองนำไปใช้กันดูนะครับ รับรองว่าโน๊ตของเพื่อนๆ จะเป็นหนึ่งในโน๊ตที่อ่านอ่าน และมีประสิทธิภาพที่สุดเลยล่ะจ้า
Source: Campus.Sanook