ไหนใครเกลียดวิชาคณิตศาสตร์กันบ้างเอ่ย…คงมีแต่คนยกมือถล่มทลายกันอย่างแน่นอนเลยล่ะ เพราะนอกจากจะยาก จะยุ่งแล้ว ยังทำใจให้เรียนได้ยากอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น ถึงเราพยายามอย่างเต็มที่ บังคับตัวเองให้จดจ่อยังไง คะแนนก็ยังเรี่ยดินอยู่ดี เหตุผลมันเพราะอะไรกันน้าาาาา
ซึ่งล่าสุดนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวียู ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เสนอคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้เพิ่มอีก 1 คำตอบ ถึงสาเหตุที่ทำให้มีความสามารถในการคิดคำนวณด้อยกว่าคนทั่วไป คำตอบที่ว่าก็คือ “ระดับฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน” ที่ต่ำกว่าปกติ!!
ผลการวิจัยชิ้นใหม่ พบว่าเด็กชายและเด็กหญิงที่แม่มีระดับ “ฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน” ขณะตั้งครรภ์ต่ำ เด็กจะมีโอกาสทำคะแนนคณิตศาสตร์ในช่วงต้นของวัยเรียนได้ไม่ดีถึง 2 เท่าเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับเด็กในครรภ์ที่มีฮอร์โมนดังกล่าวในระดับปกติ
ดร.มาร์ติจน์ ฟินเกน ผู้ทำการวิจัย จึงทำการศึกษาเด็กจำนวน 1,200 คน นับตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์จนกระทั่งเด็กเข้าเรียน โดยวัดระดับฮอร์โมนไทรอกซ์ซินเป็นเวลา 12 สัปดาห์ในครรภ์ และเปรียบเทียบกับผลการเรียนคณิตศาสตร์และผลการเรียนภาษาของเด็กเมื่ออายุได้ 5 ขวบ
โดยผลที่ได้ก็คือเด็กที่มีระดับ “ฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน” ในระดับที่ต่ำที่สุดระหว่างอยู่ในครรภ์ มีโอกาสถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีระดับคะแนนอยู่ในครึ่งล่างของตารางคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ และผลที่ได้นี้ ยังเป็นไปตามสมมติฐานเมื่อนำตัวแปรอื่นๆ มาพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานครอบครัว รวมถึงสุขภาพขณะคลอด
สำหรับฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน ซึ่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างอยู่ในครรภ์เป็นฮอร์โมนสำคัญต่อพัฒนาการของสมอง แต่เรียกได้ว่ามีแม่ตั้งครรภ์จำนวนมาก ที่มีฮอร์โมนชนิดนี้ไม่เพียงพอ
แต่ที่น่าแปลกนั่นก็คือ เจ้าระดับฮอร์โมนไทรอกซ์ซินนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อระดับคะแนนด้านคำศัพท์หรือความสามารถในการใช้ภาษาแต่อย่างใด ซึ่ง ดร.ฟินเกนระบุว่า อาจมีสาเหตุมาจากความสามารถในการใช้ภาษานั้น เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเสียเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
แต่นี่ยังเป็นแค่ผลวิจัยเบื้องต้นเท่านั้นนะจ๊ะ ยังจะต้องมีการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ เพื่อเจาะลึกลงอีกมาก แต่ถ้ามันเป็นความจริงล่ะ!! เฮืออกกก…นี่ชั้นถูกกำหนดให้โง่คณิตมาตั้งแต่ยังไม่เกิดอีกหรือ…ทำไมพระเจ้าช่างโหดร้ายเช่นนี้ T^T
Source: มติชน