เริ่มต้นเทอมใหม่กันแล้ว สำหรับเทอมเก่าพลาดพลั้งตรงไหน เกรดมันออกมาไม่สวยยังไงก็ถือว่าเป็นประสบการณ์นะจ๊ะ แล้วเรามาเริ่มกันใหม่ดีกว่า อิอิ
วันนี้เราก็มี 8 เทคนิคดีๆ ที่จะทำให้เพื่อนๆ เรียนได้ดีขึ้น เกรด 4 เกรด A จะไม่มาก็ให้มันรู้กันไป!!! ลองมาดูกันเลยว่าเทคนิคที่ว่านี้มาจาก ‘การเรียนรู้แบบองค์รวม’ หรือ ‘Holistic Learning’
ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการท่องจำแบบอัดๆ ข้อมูลเข้าไปในหัวสมอง การเรียนรู้แบบองค์รวมจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างความคิดและข้อมูลต่างๆ ทำให้เราจดจำได้ดีขึ้นในระยะยาว และช่วยเพิ่มทักษะในการคิดวิเคราะห์ด้วยล่ะ
1. แปลงข้อมูลให้เป็นรูปภาพ
สมองคนเราสามารถจดจำภาพได้ดีกว่าข้อความ ดังนั้น การแปลงข้อมูลต่างๆ ให้เป็นรูปภาพ จะทำให้เราสามารถจำได้ดีขึ้น ลองฝึกจดแลคเชอร์โดยมีรูปประกอบดู แล้วจะพบว่ามันจำง่ายกว่าข้อความติดกันเป็นพรืดๆ เยอะ
2. เชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เก่า
ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้พยายามโยงเข้ากับพื้นความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจสิ่งใหม่ที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น คำว่า ‘sue’ ซึ่งแปลว่า ฟ้องร้อง ออกเสียงคล้ายๆ ‘สู้’ ในภาษาไทย เราก็จำแบบเชื่อมโยงว่า sue คือ สู้กันในศาล = ฟ้องร้อง แบบนี้ก็จะช่วยให้จดจำได้ในระยะยาว
3. การติวให้เพื่อน
การติวให้คนอื่น นอกจากจะเป็นการทบทวนความรู้ของเราอีกรอบแล้ว ในระหว่างเรียบเรียงเพื่อนำไปอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ สมองของเรายังมีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เรียนรู้ไป ให้มีการจัดวางอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และทำให้เราเข้าใจความรู้เหล่านั้นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก!!!
4. หลีกเลี่ยงการจดโน้ตด้วยข้อความล้วนๆ
เชื่อว่าหลายคนคงเคยหลับคาตำราเรียนเล่มหนาๆ กันมาแล้วไม่มากก็น้อย เพราะตัวหนังสือที่ติดกันยาวๆ อ่านแล้วมันช่างน่าเบื่อสุดๆ ฉะนั้น เวลาที่เราจดโน้ตไว้อ่านทบทวนเอง เราก็ไม่ควรเขียนเฉพาะตัวหนังสือ
ลองวาดภาพ เขียนกราฟ เขียนแผนภูมิแทรกลงไปบ้าง จะช่วยให้สนุกขึ้นเวลากลับมาอ่านทบทวน และทำให้จดจำได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อ้อ! อย่าลืมแทรกความคิดเห็นที่เรามีต่อเรื่องนั้นๆ ลงไปด้วย เพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการคิดวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี
5. วางรากฐานให้มั่นคง
เวลาเริ่มต้นเรียนใหม่ๆ ส่วนใหญ่เนื้อหาจะง่ายใช่ไหม แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ยิ่งเรียนก็ยิ่งยากขึ้น และทำให้งุนงงสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนพอไม่เข้าใจจุดหนึ่งก็ปล่อยผ่านไป แล้วข้ามไปอ่านอีกเรื่อง แบบนั้นมักจะยิ่งทำให้งงมากขึ้น
เพราะเนื้อหาในบทเรียนส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกัน ฉะนั้น ถ้าอยากจะเข้าใจบทเรียนทั้งหมดได้โดยไม่สับสน การค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละสเต็ปจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
6. อ่านบทสรุปก่อนเริ่มเรียน
หากวิชาไหนมีบทสรุป ก่อนจะเริ่มอ่านเนื้อหาหรือเรียนในคาบถัดไป แนะนำว่าให้อ่านบทสรุปไปก่อนล่วงหน้าเพราะจะช่วยให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดก่อน และเมื่อย้อนกลับมาไล่อ่านอีกครั้งก็จะทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
บางคนเวลาเรียนในห้องมักจะชอบก้มหน้าก้มตาจดตามสไลด์ หรือจดตามสิ่งที่อาจารย์สอนแบบทันบ้างไม่ทันบ้าง ซึ่งการจดก็ถือเป็นวิธีช่วยจำที่ดี
แต่อย่าลืมเผื่อสมาธิไว้ใช้กับการฟังและคิดวิเคราะห์ตามด้วย บางคนจดมาเยอะก็จริง แต่พอกลับมาอ่านทวนกลับไม่เข้าใจซะงั้น เพราะมัวแต่จดแทบไม่ได้ฟังที่อาจารย์สอนเลย บางทีอาจารย์บอกว่าตรงนี้จะออกสอบหรือเน้นย้ำหัวข้อไหนเป็นพิเศษ ถ้าไม่ได้ตั้งใจฟังเราก็อาจจะพลาดได้
8. ฝึกจับประเด็น
การจับประเด็นไม่ใช่แค่การย่อความหรือสรุปความนะ แต่เป็นการวิเคราะห์ให้แตกฉานว่าอะไรคือหัวใจหลักของสิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือหรือสิ่งที่อาจารย์พูด ฉะนั้น เวลาอ่านหนังสือจบบทก็อย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า หัวใจสำคัญหรือประเด็นหลักของบทนี้คืออะไร
ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ในอนาคตนะจ๊ะ โดยเฉพาะเทอมที่กำลังจะเริ่มเรียนหรือเริ่มกันได้ช่วงแรกแล้วเนี่ย ^^
Source: Hotcourse