การสมัครเรียน สมัครงานแม้กระทั่งการสอบและชิงทุนไปต่างประเทศ นอกจากจะมีปัจจัยเรื่องอื่นๆแล้ว การเขียน Resume หรือ CV ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้เราได้รับข่าวดีหรือโอกาสดีๆได้ เพราะ Resume และ CV ถือเป็นด่านแรกที่ทำให้คณะกรรมการ ได้รู้จักตัวตนคร่าวๆของเรา
วันนี้เรามีเทคนิคน่ารู้ ในการเขียน Resume และ CV เพื่อให้ชนะใจกรรมการและผ่านฉลุยกัน มาดูกันได้เลยจ้าาาาา
อันดับแรก มารู้จักความเหมือน และแตกต่างของ Resume กับ CV กันก่อนจ้า
“CV” และ “Resume” มีความหมายเหมือนกันคือเป็นการเขียนเรื่องราวของชีวิต หรือประวัติส่วนตัวโดยสังเขป หากมองเพียงผิวเผิน บางคนอาจคิดว่าสองสิ่งนี้เหมือนกัน และสามารถนำไปใช้แทนกันได้ เมื่อต้องส่งเอกสารสมัครงาน หรือศึกษาต่อ แต่ทว่า มีน้อยคนนักที่รู้ว่า “CV” และ “Resume” มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน
ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความละเอียดของข้อมูล กล่าวคือ ในการเขียน CV นั้น เราจะต้องใส่ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติการศึกษา และการทำงานต่างๆ ของตัวเรา ซึ่งนั่นอาจรวมถึงงานเขียน งานวิจัย งานจิตอาสา กิจกรรม เกียรติคุณหรือรางวัลต่างๆ (ถ้ามี) ด้วยเหตุนี้ CV จึงมักมีความยาวตั้งแต่ 2 หน้ากระดาษขึ้นไป และเป็นเอกสารที่มักใช้กันเวลาสมัครขอทุนต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ หรือสมัครงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสอน หรือวิชาการ
ส่วน Resume นั้นเปรียบเหมือนเค้าโครงย่อของ CV เราใส่ข้อมูลแบบเดียวกับที่เราใส่ใน CV แต่ไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดในเชิงลึก และอาจไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงงานพิเศษ หรือกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น Resume จึงไม่ควรมีความยาวเกิน 1-2 หน้ากระดาษ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ CV เป็นเอกสารการสมัครงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป เอเชียและตะวันออกกลาง ในทางกลับกัน Resume นั้นจะค่อนข้างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา หากเราต้องการสมัครงานในองค์กร หรือบริษัททั่วไปในสหรัฐฯ Resume มักเป็นเอกสารที่ใช้กันในวงกว้าง ส่วน CV คือเอกสารที่ใช้ในการสมัครงานในวงวิชาการ หรือสอบชิงทุน
ข้อคำนึงที่เราต้องนึกถึงก่อนการเขียนทั้ง CV และ Resume
1. จงซื่อสัตย์ : สิ่งหนึ่งที่คุณจำเป็นต้องจำไว้ในใจตลอดก็คือ สถาบัน หรือองค์กร หน่วยงานต่างๆ ต้องทำการตรวจสอบสิ่งที่คุณเขียนลงไป ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา รางวัลที่คุณได้รับ ประสบการณ์การทำงาน ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่คุณจะไม่เขียนเรื่องโกหกลงไป โดยเฉพาะประสบการณ์การทำงาน และผลงานของคุณ
2. กระชับ และชัดเจน : จงจำไว้ว่าในแต่ละที่นั้นมีใบสมัครมากมายที่พวกเขาจำเป็นต้องอ่าน เพื่อพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสม พวกเขาจึงไม่มีเวลามากนักในการให้ความสนใจ และใช้เวลากับใบสมัครของทุกคน ดังนั้น คุณจึงควรเขียนให้กระชับ และอ่านง่าย เพื่อให้สังเกตเห็นในจุดที่สำคัญได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็น ตัวเลขต่างๆ เปอร์เซ็นต์ วันที่และเหตุการณ์สำคัญ ด้วยการเขียนในรูปประโยคที่สั้นและชัดเจน
3. ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไป : คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาจากสิ่งที่คุณเคยทำมาเท่านั้น แต่พวกเขายังพิจารณาจากสิ่งที่คุณสนใจ ความทะเยอทะยาน และเป้าหมายของคุณด้วย ดังนั้น จึงเป็นความคิดที่ดี ที่จะเขียนถึงสิ่งที่คุณได้รับจากการทำงานในอดีต และสิ่งที่คุณคาดหวังว่าจะได้รับจากงานที่คุณต้องการจะสมัคร
4. ใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างฉลาด : อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า คณะกรรมการไม่ได้มีเวลามากในการอ่าน ดังนั้นคุณต้องทำให้เข้าใจง่าย เข้าถึงประเด็นที่ต้องการ และในสถานการณ์เช่นนี้ เครื่องหมายวรรคก็สามารถช่วยคุณได้ โดยคุณควรใช้ในการแสดงหัวข้อให้อ่านง่าย รวมทั้งพยายามทำข้อความที่สำคัญให้เป็นตัวหนา หรือขีดเส้นใต้ เพราะการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้ ไม่ได้เพียงแค่ทำให้นายจ้างอ่านง่ายเท่านั้น แต่ยังทำให้ดูเป็นระเบียบ เข้าใจง่าย และเป็นมืออาชีพ
5. ระวังเรื่องหลักภาษา : ถ้าคุณเขียนด้วยหลักภาษาที่ผิด หรือสะกดคำผิดพลาด ถือว่าผิดมหันต์เลยทีเดียว เพราะทั้งหมดนี้แสดงถึงทักษะ ประสบการณ์และความรู้ ดังนั้น คุณจำเป็นต้องทำให้มันสมบูรณ์แบบ ควรตรวจทานเรื่องเครื่องหมายลูกน้ำ การสะกด ตัวอักษรตัวใหญ่ และเครื่องหมายวรรคตอนอื่นๆ เพื่อมั่นใจว่าคุณใช้มันได้อย่างถูกต้อง
6. ทำให้น่าอ่าน : การเขียนแบบธรรมดาที่เต็มไปด้วยประวัติส่วนตัว ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การเขียนที่เหมือนกันสำหรับทุกงานที่คุณสมัครนั้น เรียกว่าไม่ได้เป็นความคิดที่ดีเท่าไหร่นัก! คุณควรที่จะเขียนให้เหมาะกับแต่ละงานที่คุณยื่นใบสมัครไป โดยพิจารณาจากลักษณะของงานนั้นๆ และดูว่าอะไรคือ สิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงาน รวมถึงการเรียงลำดับความสำคัญของประวัติ และประสบการณ์ต่างๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้ ข้อมูลของคุณดูน่าสนใจ และมีความเฉพาะทางมากขึ้น
7. รู้จักตัวเองให้ดี : เคล็ดลับนี้ ไม่ได้ใช้เฉพาะในการเขียนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในตอยสอบสัมภาษณ์ และการประเมินตนเองได้อีกด้วย โดยคุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับจุดเด่น จุดด้อย ความสนใจ และสิ่งที่ต้องการของตัวคุณเอง คุณต้องมีความชัดเจนว่า คุณเคยทำอะไรมาบ้าง และคุณได้รับอะไรจากมัน และเป้าหมายที่คุณต้องการคืออะไรในอนาคต เพราะมันจะช่วยสร้างความประทับใจ กับผู้สมัครที่มีความชัดเจน และมีความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงเข้าใจถึงบทบาทของบริษัท และลักษณะงานที่ต้องการจะสมัครด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณไม่ควรที่จะลังเลในการตอบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
8. ทำให้ข้อมูลทันสมัยเสมอ : ควรมั่นใจก่อนว่าข้อมูลที่คุณเขียนลงไปนั้น มีการปรับปรุงหรืออัพเดทข้อมูลแล้วหรือไม่ เพราะมันจะเป็นการที่ดีกว่า ถ้าคุณจะเขียนเกี่ยวกับรางวัล หรือประสบการณ์การทำงานล่าสุด เมื่อเทียบกับรางวัล หรือผลงานเก่าๆ
9. หาที่ปรึกษา : เมื่อคุณเขียนเสร็จแล้ว แล้วก็พร้อมที่จะสมัครในตำแหน่งที่คุณสนใจแล้วละก็ ขอให้คุณคิดใหม่อีกครั้ง เพราะว่าเหมือนกับคำพูดที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” หมายถึง มันเป็นการดีกว่า ถ้าคุณจะมีที่ปรึกษาในการอ่านและตรวจสอบ เพราะพวกเขาสามารถที่จะช่วยในการเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์และการประเมินได้ด้วย
สิ่งที่ต้องเขียนลงไปนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
1. ข้อมูลส่วนตัว (Personal information) : ประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ สัญชาติ วันเดือนปีเกิด และวิธีติดต่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และอีเมล (แนะนำว่าให้ใช้อีเมล์ที่เป็นชื่อ และนามสกุลของตัวเองดีกว่า เพราะดูเป็นทางการ และทางเจ้าหน้าที่จะได้จัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น)
2. ประวัติการศึกษา (Education) : ให้บอกสาขาที่เรียน ชื่อสถาบัน ปีการศึกษาที่เข้าและจบ โดยเรียงจากระดับสูงสุด (มหาวิทยาลัย) ไปจนถึงโรงเรียนมัธยม แนะนำสถาบันที่เราเคยเรียน หลักสูตร ระยะเวลา และผลการเรียนของเรา โดยระบุวุฒิการศึกษาว่าเป็นประกาศนียบัตร, วุฒิบัตร, หรือปริญญาตรี เป็นต้น
3. ประสบการณ์ทำงาน (Work experience) : แนะนำว่าเราเคยทำงานอะไรมาบ้าง มีตำแหน่ง และหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรที่เราดูแลระหว่างทำงาน เคยทำงานพิเศษ ฝึกงาน หรือทำงานตอนไป Work&Travel ขณะกำลังศึกษาอยู่ก็สามารถใส่ข้อมูลได้เลย โดยเรียงลำดับจากงานล่าสุดเป็นต้นไป
4. ประสบการณ์การทำวิจัย (Research experience) : เราเคยทำวิจัยเรื่องไหนบ้าง และได้ผลลัพธ์อะไร ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ จำเป็นเมื่อเราสนใจจะสมัครขอรับทุนการศึกษาต่อ
5. กิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular activities) : แนะนำว่าเราเคยทำกิจกรรมนอกหลักสูตรอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมชมรม หรือการช่วยเหลือชุมชนต่างๆ
6. รางวัล (Awards) : เคยประกวด หรือแข่งขันแล้วได้รางวัล ใบประกาศนียบัตรจากหลักสูตร และกิจกรรมต่างๆ ใส่ตรงส่วนนี้ได้เลย โดยเรียงจากเหตุการณ์ล่าสุดลงไปนะ
7. ทักษะ (Skills) : โดยทั่วไปจะเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และภาษาต่างประเทศ ลองนึกดูว่าเรามีความสามารถด้านไหนบ้าง ในส่วนนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสมัครมากนัก ยกเว้นทุนหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะ หรือเคยทำงานวิจัยในห้องแลป เป็นต้น
8. งานอดิเรก และสิ่งที่สนใจ (Hobbies & Interests) : กิจกรรมที่ชอบทำ ความถนัด หรือความสามารถพิเศษ (ส่วนนี้ไม่ต้องยาวมาก)
9. จดหมายรับรอง (References) : ส่วนใหญ่คนที่จะเขียนจดหมายรับรองให้เราได้มักจะเป็นอาจารย์ เจ้านาย หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ต้องไม่ใช่ญาติ หรือเพื่อนสนิท และที่เรียกว่าบุคคลอ้างอิง อีกนัยหนึ่งก็คือ บุคคลที่จะสามารถ ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของเราได้ และควรอ้างมา 2-3 ท่าน พร้อมทั้งที่อยู่ที่จะติดต่อได้ และอาชีพของเขาเหล่านั้น
ก็หวังว่าเพื่อนๆ จะนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเพื่อนๆ นะจ๊ะ ^^
Source: yenta4