ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักเรียนต่างชาติมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากคุณภาพของการศึกษาที่ดี คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่
นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาสนับสนุนให้นักศึกษาต่างชาติได้มีโอกาสไปเรียนต่อในประเทศมากมาย โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท
วันนี้เราก็มีบทความแนะนำ 5 ขั้นตอนในการสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโทมาฝากทุกคนค่ะ ถ้าเข้าใจขั้นตอนแล้วเนี่ย การสมัครเรียนในเยอรมนีก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยล่ะค่ะ
1. ประเภทของปริญญาโทในเยอรมนี
ทุนปริญญาโทในประเทศเยอรมนีจะมีหลักสูตรแบบ “ต่อเนื่อง” และ “ไม่ต่อเนื่อง” โดยหลักสูตรแบบต่อเนื่องจากสอนความรู้ทางวิชาการเกี่ยวเนื่องกับหลักสูตรในระดับปริญญาตรี และหลักสูตรไม่ต่อเนื่องจะเน้นให้ผู้เรียนได้มีพัฒนาการจากประสบการณ์การทำงาน หลักสูตรปริญญาโทส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 4 ภาคเรียน (2 ปี)
2. ข้อกำหนดด้านภาษา
หลักสูตรส่วนมากจะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาเยอรมัน ดังนั้นผู้สมัครจะต้องมีผลการวัดระดับความสามารถด้านภาษาเยอรมันแนบมาด้วย
ซึ่งคะแนนที่ใช้ก็จะเป็นคะแนน DSH ที่ใช้สำหรับผู้ที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย คะแนนสอบนี้จะใช้ได้เฉพาะในประเทศเยอรมนีเท่านั้น
และคะแนน TestDaF เป็นคะแนนการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ ผลคะแนนนี้สามรถใช้ได้ใน 90 ประเทศทั่วโลก
นอกจากผลการวัดระดับของภาษาเยอรมันแล้ว หลักสูตรในประเทศก็ยังมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยการสอนเป็นภาษาอังกฤษนี้จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ German Academic Exchange Service (DAAD) ผู้สมัครจะต้องมีผลคะแนนการทดสอบวัดระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็น IELTS หรือ TOEFL แนบมาด้วย
3. การสมัครเรียนในระดับปริญญาโท
ก่อนที่จะสมัครเรียนระดับปริญญาโท คำแรกที่ทุกคนควรทำความเข้าใจคือคำว่า hochschulzugangsberechtigung ตัวย่อคือ HZB มีความหมายถึงคุณสมบัติในการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
ส่วนใหญ่วุฒิการศึกษาที่ผู้สมัครสำเร็จมาก็มักจะใช้ได้ในการสมัครระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี แต่คุณสมบัติเฉพาะที่เพิ่มมาก็จะขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เรียน สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่สมัครเรียน
นอกจากนี้บางที่ก็ยังจะดูอีกว่าคุณจบการศึกษามาจากที่ไหน บางหลักสูตรของปริญญาโทจะมีการกำหนดหน่วยกิตที่จะใช้ต่อยอด ซึ่งข้อนี้ก็จะขึ้นอยู่กับภาควิชาที่กำหนดหลักสูตรอีกช่นกัน
การรับสมัครนักศึกษาในระดับปริญญาโทจะเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของทางมหาวิทยาลัย หรือสามารถรับเข้าผ่าน Uni Assist ซึ่งจะมีกรรมการกลางคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ก่อนจะส่งต่อไปให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณา
แต่ก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยในประเทศทุกแห่งที่ใช้ระบบนี้ บางแห่งก็สะดวกที่จะรับนักศึกษาเข้าเรียนต่อโดยตรงกับทางมหาวิทยาลัยมากกว่า
นอกจากนี้เอกสารที่จำเป็นต้องใช้นอกเหนือใบสมัครนั้น จะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนด แต่เอกสารเพิ่มเติมส่วนมากก็มักจะใช้ สำเนาแสดงผลการเรียน รูปติดพาสสปอร์ต สำเนาพาสสปอร์ต และสำเนาผลคะแนนทดสอบวัดระดับภาษา ซึ่งบางแห่งก็จะมีค่าธรรมเนียมในการสมัครด้วย
4. ช่วงเวลาในการสมัคร
มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศเยอรมนีจะเปิดระบบรับสมัครนักศึกษาใหม่ 2 ครั้ง ต่อปี โดยจะเปิดในภาคฤดูหนาวช่วงเดือนตุลาคม ถึง มีนาคม และภาคฤดูร้อนสำหรับวิทยาลัยจะเปิดรับช่วงเดือนมีนาคม ถึง สิงหาคม และสำหรับมหาวิทยาลัยจะเปิดรับช่วงเดือนตุลาคม ถึง มีนาคมของทุกปี
โดยทั่วไปการสมัครเข้าเรียนในภาคฤดูหนาวจะเปิดให้ลงทะเบียนประมาณวันที่ 15 กรกฎาคม และช่วงภาคฤดูร้อนจะเปิดประมาณวันที่ 15 มหราคม
อย่างไรก็ตามวันที่ปิดรับสมัครนั้นจะกำหนดโดยมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ดังนั้นผู้สมัครจะต้องอ่านรายละเอียดการสมัครให้ครบถ้วนรอบคอบ และดูวันเปิดปิดรับสมัครให้แน่ชัด
5. การขอวีซ่านักเรียนเพื่อเรียนต่อในประเทศเยอรมนี
นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในเขต EU EEA หรือในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า เพียงแค่ต้องลงทะเบียนในการขออนุญาตอาศัยในประเทศเยอรมนี รวมทั้งนักศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย อิสราเอล ญี่ปุ่น แคนาดา นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอเมริกาก็ต้องลงทะเบียนขออนุญาตเช่นกัน
นอกจากนี้นักศึกษาจากประเทศอันดอร์รา บราซิล เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส โมนาโกและประเทศซานมารีโน ตราบใดที่พวกเขาไม่ทำงานระหว่างเรียนต่อก็สามารถใช้กฎเดียวกันได้
นักศึกษาจากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้กล่าวมาข้างต้นจะต้องทำการขอวีซ่านักเรียนที่สถานทูตเยอรมนีก่อนจึงจะมีสิทธิ์เรียนต่อได้ ในการสมัครอาจจะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น ผู้สมัครจึงต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าก่อนเวลาเปิดรับสมัครเพื่อที่จะได้สมัครทันเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องแนบเอกสารดังต่อไปนี้มากับวีซ่านักเรียน นั่นก็คือพาสสปอร์ต หนังสือตอบรับเข้าเรียนจากทางมหาวิทยาลัย ประกันสุขภาพและหลักฐานแสดงจำนวนเงินในบัญชีที่จะใช้เป้นค่าครองชีพระหว่างที่ศึกษาต่อ
ที่มา: topuniversities