Chevening Scholarship ถือเป็นหนึ่งในทุนใหญ่ประจำปีที่หลายคนให้ความสนใจและอยากสมัคร ด้วยความที่ทุนนี้ไม่จำกัดอายุ ดังนั้นไม่ว่าเมื่อไหร่ก็สามารถสมัครได้ค่ะ
เมื่อไม่นานมานี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “กุ้ย สุทธิมนัส ชินอัครพงศ์” นักเรียนทุนปี 2023 จากโครงการ Chevening Scholarship ค่ะ
ซึ่งสาขาที่กุ้ยเลือกไปเรียนนั้นคือ Journalism and Media Studies ที่ University of Sussex มีเรื่องที่น่าสนใจซึ่งเราอยากแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันมากมายเลยค่ะ มาเริ่มกันเลย!
ประสบการณ์เรียนปริญญาโทใบที่ 2 ในสายงานสื่อสารมวลชน
กุ้ยจบโทที่ไทยเมื่อตอนปี 63 จบที่จุฬาฯ เรียนนิเทศสาขาคล้ายกันกับที่มาเรียนที่นี่เลยครับ จริงๆ ที่วางแผนไว้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เขียนแนบไปกับ Essay ตอนสมัครทุน Chevening คือผมอยากเป็นอาจารย์ที่ไทย ดังนั้นหลังเรียนจบก็คิดว่าจะกลับไปทำงานในสายเดิมสัก 2 – 3 ปีก่อน แล้วค่อยหาทุนเรียนต่อปริญญาเอกอีกที ซึ่งก็น่าจะเป็นที่อังกฤษเหมือนเดิม ถ้ามีโอกาสนะครับ เดี๋ยวลองดูกันอีกที
ตอนเรียนที่จุฬาฯ กุ้ยเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารสังคมก็จะเน้นพวกการทำแคมเปญพีอาร์ ทำพวก CSR อะไรพวกเนี่ยครับ
ส่วนที่เรียนที่อังกฤษ เป็นสาขาที่เน้นการทำงานของสื่อมวลชน การสร้างสื่อในช่องทางใหม่ๆ และศึกษาพวกแง่มุมวิชาการของสื่อครับ
เรียนปริญญาโทที่อังกฤษ กับที่ไทยต่างกันมั้ย? แม้ในสาขาที่คล้ายกัน
จริงๆ เป็นสาขาในกลุ่มเดียวกันครับ แต่ว่าจะมีความต่างกันตรงที่ จุฬาฯ เนี่ยเค้าจะแบ่งไม่เหมือนกับที่นี่ ไม่เหมือนเลยค่อนข้างแตกต่าง ที่นี่เนี่ยมันจะดูกว้าง อย่างของกุ้ยเนี่ย กุ้ยเรียน Journalism and Media Studies (ซึ่งถือเป็นกลุ่มสาขาใหญ่) แต่ของที่จุฬาฯ เนี่ย เค้าจะแบ่งย่อยเป็น การสื่อสารสังคม ICM แล้วก็เป็นหนังสือพิมพ์ Journalism
ซึ่งของกุ้ยที่เรียนอยู่ในปัจจุบันนี้จะใกล้เคียงกับ Journalism ของที่จุฬามากกว่า แต่ว่าถ้าในเชิงวิชาการ ในสายการวิจัยอะไรแบบนี้เนื้อหาค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ในวิชาทฤษฎีนะครับ เพียงแต่วิธีการเรียนจะแตกต่างกัน เพราะว่าที่นี่มันยังมีการเรียนที่เป็นปฏิบัติในการเรียนปริญญาโทด้วย อันนี้กุ้ยก็ค่อนข้างแปลกใจเหมือนกัน เพราะว่าที่ไทยเนี่ย แทบจะไม่มีเลยมั้ง เพราะถ้าเป็นปริญญาโทเนี่ย ค่อนข้างที่จะไปในทางทฤษฎี อ่าน ทำวิจัยอะไรแบบนี้ซะมากกว่า
แต่ว่าที่นี่เนี่ย ไม่แน่ใจว่าเฉพาะซัสเซสหรือเปล่านะ แต่เท่าที่กุ้ยหามาเนี่ย มันจะมีปนกัน แบ่งสัดส่วนกันอีกทีระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติแล้วแต่รายวิชา ซึ่งในมุมของผมเนี่ย ที่ไทยจะเน้นการวิจัยมากกว่าที่นี่
เรียนที่ University of Sussex เป็นยังไงบ้าง?
ด้วยความที่ Sussex โดดเด่นมากในเรื่องของการพัฒนา เรียกว่าเป็นตัว Top ในสายนี้เลย ซึ่งแม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับกุ้ยโดยตรง แต่ผมสนใจเพราะ เป้าหมายของผมจากการศึกษาคือการได้กลับไปเป็นส่วนเล็กๆในการพัฒนาวงการสื่อ ในแง่ของการพัฒนาสื่อท้องถิ่น รวมถึงงานอาสาสมัครต่างๆที่ทำอยู่เสมอก็เลยเลือกมาเรียนที่นี่ครับ
ดังนั้น เขาเลยจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากๆ ชั่วโมงเรียนน้อย เมื่อเทียบกับเวลาที่เขาคาดหวังให้เราค้นคว้าและสร้างความรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการอ่านจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ มี Reading List มาให้ทุกวิชา ทุกคาบ สัปดาห์หนึ่งนี่ อ่านหนังสือต่ำๆ 7-10 เล่ม / บทความ เลย
ส่วนรูปแบบการเรียนในสาขาของผมจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ Lecture / Seminar / Workshop
• Lecture ที่แตกต่างจากไทยเลยคือ ในไทยอาจารย์จะสอนสลับกับให้เราแสดงความคิดเห็น แต่ที่นี่ถ้าวิชาไหนเป็นบรรยายจ๋าๆ นักศึกษาก็มีหน้าที่นั่งฟังและจดไป ข้อดีของที่นี่คือ Lecture ทุกคาบ จะมี Records ทั้งหมด ทั้งภาพและเสียงสไลด์ สามารถมาใช้ทวนย้อนหลังได้ครับ แต่ถ้าวิชาไหนเปิดให้ถกกัน อาจารย์จะเป็นฝ่ายฟังความคิดเห็นของเรา เรียกว่าแบ่งอย่างชัดเจนครับ
• Seminar ตอนเรียนในไทยผมไม่ค่อยได้เจออะไรแบบนี้เท่าไหร่ แต่หลักๆ มันจะเหมือนให้ทุกคนเอาสิ่งที่เจอจากการอ่าน มาถกเถียงกัน แสดงความเห็นกัน เรียกว่าคือการหยุมหัวผ่านงานวิชาการ สนุกดี
• Workshop ในส่วนนี้ของกุ้ยได้ออกไปถ่ายภาพ ทำข่าว สัมภาษณ์ เป็นครั้งแรกที่ได้ติดต่อแหล่งข่าวเพื่อทำข่าวหรือสารคดี แรกๆ ตื่นเต้นมากครับ กลัวโดนปฏิเสธ แต่จริงๆ คนที่นี่ค่อนข้างไม่กลัวนักข่าวนะ หลายคนเขาก็ยินดีที่จะให้ข้อมูล
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังมากๆ เลยคือที่นี่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากๆ อย่างไฟล์เสียงหรือข้อมูลอะไรที่เราได้มาจากเขา หลังใช้งานเรียบร้อยแล้วต้องลบทันที เรียกว่าค่อนข้างจะเคร่งในเรื่องนี้ครับ
• ในส่วนของการบ้านและคะแนน ที่นี่จะให้คะแนนจากงานเขียน 100% เลยครับ บางงาน ทั้งเทอมงานเดียวก็อยู่ที่เราจะจัดสรรเวลาเอาเอง ส่วนตัวผมชอบระบบการให้คะแนนของที่นี่นะ เพราะเป็นระบบกลางที่ไม่ระบุตัวตนนักศึกษา อาจารย์ก็จะสามารถให้คะแนนได้อย่างตรงไปตรงมาเลย แฟร์ดี
เรียนหนักหน่วงขนาดนี้ ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกมหาวิทยาลัยบ้างไหม?
ผมใช้ชีวิตเต็มที่มากครับ ทุกกิจกรรมที่ทางทุนหรือมหา’ลัยจัดให้ผมเข้าร่วมแทบทั้งหมดเลย แล้วด้วยความที่เมืองที่อยู่เป็นเมืองท่องเที่ยวของอังกฤษด้วย เลยมีโอกาสได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ละวันคือหากิจกรรมให้ตัวเองตลอด ได้เตะบอลทุกสัปดาห์แบบที่คิดไว้ ได้เข้าทีมลีกส์ของมหาลัย (เล่นประตู ฮ่า) เที่ยวทั่วอังกฤษแบบไปเรื่อยๆ จนตอนนี้เชี่ยวชาญเรื่องการประหยัดเงินเวลาเที่ยวเลย ใครอยากเที่ยวแบบประหยัด ลำบากได้ ปรึกษาได้ครับ ลำบากจริงๆ นะบอกก่อน 5555
พวกงานเลี้ยงหรือเสวนาอะไรแบบนี้ผมก็ชอบครับ ทางทุนเองก็จัดงานแบบนี้เรื่อยๆ เพื่อให้เราเข้าร่วม ซึ่งจุดนี้ผมชอบมาก ได้รู้จักคนเยอะขึ้น เรียนรู้จากหนังสือที่มีชีวิต และหลายๆคนก็โปรไฟล์ไม่ธรรมดาเลย
ในฐานะที่เป็นนักเรียนทุน คิดว่าอะไรสำคัญที่สุด
อย่างแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือคะแนน IELTS ครับ เพราะส่วนมากทางมหาวิทยาลัยจะใช้คะแนนนี้ในการรับสมัคร บางคนได้ทุนแล้ว แต่สมัครเรียนไม่ผ่านเพราะคะแนนไม่ถึงก็ต้องสละทุนอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นถ้าจะต้องเตรียมตัว ผมว่าเรื่องนี้คือส่วนที่สำคัญที่สุด
นอกนั้นก็คือประสบการณ์การทำงาน อันนี้จากที่ผมเป็นทั้งคนที่เรียนจบแล้วเรียนต่อโทเลย และทำงานก่อนค่อยมาเรียนโทอีกครั้งนะครับ คือทุนส่วนมากมักจะมีข้อกำหนดในเรื่องของประสบการณ์การทำงานก่อนหน้า ดังนั้นหากเราตั้งใจว่าจะสมัครทุน ก็อาจจะต้องเตรียมในส่วนนี้ด้วย
แต่ถ้าหากว่าเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเรียนปริญญาโทแล้วนำไปใช้ทำอะไร และไม่ได้มีแผนสมัครทุน การจะเลือกเรียนโทหลังเรียนจบเลยผมว่าก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีครับ
ในส่วนของทุน ประสบการณ์การทำงานจะมีส่วนช่วยมากๆ ทั้งในตอนที่เราสมัครและตอนเรียน คือตอนสมัครเนี่ย เราสามารถนำประสบการณ์ต่างๆ มาช่วยอธิบายได้ว่าเรามีเป้าหมายอะไร อิงจากสิ่งที่เราเคยได้ทำมา ส่วนตอนเรียนเนี่ย อย่างผมสังเกตจากตัวเองนะ เวลาพูดคุยถกกันในรายวิชา คนที่ทำงานแล้วมักมีมุมมองและเรื่องชวนคุยเยอะกว่าเพราะเขาเจอประสบการณ์จริงมามากกว่า ก็ถือเป็นข้อดีครับ
ส่งท้ายถึงนักล่าฝันรุ่นต่อไปสักหน่อย
อยากบอกหลายๆ คนนะครับ คือจริงๆ มีน้องหลายคนที่เข้ามาปรึกษาผมเกี่ยวกับการสมัครทุนเยอะมาก สิ่งหนึ่งที่พบเลยก็คือเราไม่อยากบอกให้ทุกคนสมัครทุนโดยที่เราไม่รู้ว่าเราจะเอาทุนหรือการเรียนนั้นไปทำอะไร คือไม่ใช่ว่าทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ทุนมา หรือเพื่อให้เราไปเรียน แต่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าสุดท้ายเราเรียนมาแล้วเราจะเอาตรงนี้ไปทำอะไร สร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง ทั้งต่อตัวเอง สังคม หรือต่อคนอื่น
ผมเชื่อว่าทุนทุกทุนเค้าหาคนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นเนี่ย ถ้าหากว่าเรายังไม่ชัดเจน ไม่ต้องรีบครับ เพราะบางคนรีบเข้ามาแล้วพบกับความผิดหวัง แต่ว่าถ้าเราหาเป้าหมายของเราเจอ ไม่ว่าคุณจะสมัครทุนไหนคุณก็จะมีความมั่นใจ อย่าพึ่งคิดว่าเราไม่เก่ง เพราะทุนไม่ได้มองหาคนเก่งเสมอไป ทุนหาคนที่ชัดเจนและกล้าทำโดยไม่กลัวว่าจะผิดหวังหรือเปล่า
เพราะงั้น อยากลองทุนไหน ถ้าคุณสมบัติผ่าน ลองเลยครับ