หนึ่งในทุนใหญ่ที่หลายคนรู้จักดีอย่าง Fulbright Scholarship ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่คนมีฝันอยากเรียนต่อไม่ควรพลาด
ทุนนี้ดีอย่างไร? และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง? วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ
Fulbright Scholarship คืออะไร? มาจากไหน?
Fulbright Scholarship เป็นทุนที่รู้จักกันในชื่อ “ทุนรัฐบาลสหรัฐฯ” ที่มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทั่วโลกได้เรียนต่อหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก ใน USA พร้อมรับการสนับสนุนที่ครอบคลุมรอบด้าน
แรกเริ่มทุนนี้ก่อตั้งโดย Senator J. William Fulbright หนึ่งในวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ปี 1946 ซึ่งเป็นเล็งเห็นประโยชน์ของการผูกมิตรกับนานาประเทศผ่านการศึกษา จึงได้มีการจัดตั้งทุนและมูลนิธิในหลายๆ ประเทศ
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (Thailand-United States Educational Foundation) เกิดขึ้นในปี 1950 และดำเนินงานเรื่อยมาในฐานผู้บริหารจัดการดูแลทุนและนักเรียนไทยผู้ได้รับทุนให้เรียนต่อในต่างประเทศ
ทุนนี้ดีอย่างไร??
สำหรับ Fulbright Scholarship เรียกได้ว่าเป็นทุนเต็มจำนวนที่ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็น
• ทุนการศึกษาเต็มจำนวนสำหรับปีแรก ไม่เกิน 35,000USD (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) ปีต่อไปสามารถขอได้ไม่เกิน 17,500USD (ประมาณ 627,000 บาท) พิจารณาเป็นรายบุคคล
• ค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมด รวมถึงค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน
• ประกันสุขภาพ
• ค่าตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดสำหรับการเดินทางไป-กลับระหว่างประเทศ
• ที่สำคัญ เป็นทุนแบบไม่มีข้อผูกมัด ไม่ต้องใช้คืน แต่ผู้รับทุนต้องกลับบ้านเกิดหลังเรียนจบ
คุณสมบัติผู้สมัคร :
• สัญชาติไทย ไม่มีสิทธิ์พำนักถาวรใน USA หรือถือกรีนการ์ด
• หลังเรียนจบต้องกลับประเทศเป็นเวลา 2 ปี (หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ทำงานใน USA)
• มีวุฒิฯ ปริญญาตรี (หากมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ)
• GPA ไม่ต่ำกว่า 3.00 ในระดับปริญญาตรี (สำหรับปริญญาโท)
• GPA ไม่ต่ำกว่า 3.50 ในระดับปริญญาโท (สำหรับปริญญาเอก)
• มีคะแนนภาษาอังกฤษตามที่กำหนด : TOEFL iBT 80 | IELTS 6.5 ขึ้นไป (อายุไม่เกิน 2 ปี)
• ไม่เคยได้รับทุนนี้มาก่อน
• ต้องเป็นนักศึกษาที่ไม่เคยเรียนในระดับอุดมศึกษา ณ สหรัฐอเมริกามาก่อน
เอกสารที่ใช้ในการสมัคร :
หลักๆ เอกสารจะคล้ายกับทุนทั่วไปคือต้องมีดังนี้
• Transcripts
• CV หรือ resume
• ข้อมูลงานวิจัยหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราอยากสมัครเรียน
• Personal statement : อธิบายถึงตัวตนว่าทำไมเราจึงควรได้รับทุนนี้
• Statement of purpose : แผนการเรียนหรือวัตถุประสงค์ในการสมัครทุนนี้
• สำเนาของผลสอบภาษาอังกฤษ
• Letters of Recommendation : ไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีตำแหน่งใหญ่โต ให้เน้นคนที่ยืนยันได้ว่ารู้จักเราจริงๆ (เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา หรือหัวหน้างาน)
Tips : เกร็ดน่ารู้การสมัครทุน Fulbright
• ยังไม่ต้องสมัครเรียนหากต้องการทุนนี้ ให้สมัครทุนก่อน หลังได้ทุนแล้วทาง Fulbright จะมีทีมคอยช่วยเหลือในการสมัครมหาวิทยาลัยอีกที
• ผู้รับทุนทุกคนจะได้รับวีซ่า J-1 ที่ติดเงื่อนไขห้ามทำงานใน USA เป็นเวลา 2 ปี หลังเรียนจบ ซึ่งพันธะนี้จะอยู่ติดตัวจนครบกำหนด
• แนะนำว่าการเขียนเรียงความไม่ต้องยาวมาก แต่ไม่แสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่าเราอยากเรียนอะไร เรียนไปทำไม วางแผนไว้ว่าเรียนแล้วจะได้อะไร เพื่ออะไร และพิสูจน์ผ่านแนวคิดว่าจะทำให้มันเป็นจริงได้อย่างไร
• สืบเนื่องจากข้อบน เหตุผลก็เพราะว่าในแต่ละปีมีคนสมัครเยอะมาก แต่มีทุนประมาณ 7 ทุนเท่านั้น การแสดงออกอย่างชัดเจนจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กรรมการเลือกคุณเข้าสัมภาษณ์ได้มากกว่า
• Tips การเขียน : ดูวัตถุประสงค์ของทุนและทำความเข้าใจให้ดี จะช่วยให้รู้แนวทางการเขียนเรียงความที่ตอบโจทย์กับการพิจารณาของคณะกรรมการ
• กรณีกำลังจะเรียนจบให้วางแผนเวลาดีๆ เพราะในรอบสัมภาษณ์จำเป็นต้องมี transcript ฉบับเต็มมาแสดงด้วย
• ประสบการณ์การทำงานถือเป็นข้อได้เปรียบ โดยเฉพาะในบางสาขาที่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเลือกเรียนอะไร และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาเกี่ยวข้องขนาดไหน?
• ทุนนี้มีระดับปริญญาโท – เอก เท่านั้นในปัจจุบันยังไม่มีทุนหลักสูตรอื่นๆ
ใครสนใจทุนนี้บอกได้เลยว่าเป็นหนึ่งในโอกาสดีจริงๆ ซึ่งการเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจ และเพิ่มโอกาสในการคว้าชัยชนะได้ค่ะ
ที่มา: