AFS ประเทศไทย มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างประเทศ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 AFS ประเทศไทยได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร (ศูนย์การเรียนรู้ The Essence – Newton – Open School) ด้วยวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างประเทศให้ตอบรับกับพฤติกรรมทางการศึกษาของนักเรียนที่เปลี่ยนไป
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทยกล่าวว่า
“ในปัจจุบันนี้ความรู้และทักษะในการเป็นพลเมืองโลกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ซึ่งหากเยาวชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ภายใต้ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ผลักดันให้เยาวชนมีมุมมองที่กว้างไกลและทันสมัย
ซึ่งเอเอฟเอส ประเทศไทยในฐานะของหน่วยงานที่มอบโอกาสเหล่านั้นให้กับเยาวชนมากกว่า 60 ปี เรายังคงยืนหยัดอยู่บนภารกิจในการสร้างสรรค์พลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ด้วยความรู้ และความเข้าใจในความแตกต่างที่หลากหลายของสังคมโลกเสมอมา”
ในครั้งนี้ มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (AFS ประเทศไทย) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ จับมือร่วม 3 สถาบันการศึกษา
โดยนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ Head Master นายวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนดิเอสเซนส์ นายแพทย์ธรรมศักดิ์ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนนิวตัน และนายอภิธา วัลลภศิริ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนโอเพ่นสคูล ลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยมุ่งมั่นในการสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ณ ศูนย์การเรียนดิเอสเซนส์
ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญกล่าวว่า
“ในการจับมือกันครั้งนี้ของเอเอฟเอส ประเทศไทย และศูนย์การเรียนดิเอสเซนส์ ศูนย์การเรียนนิวตัน ศูนย์การเรียนโอเพ่นสคูล จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้เรียน
โดยการดึงเอาจุดแข็งของทั้ง 2 หน่วยงานเข้ามาใช้ในการดำเนินการ อย่างการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Intercultural Learning) การแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างนานาประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของสังคมโลก ความเข้าใจในอุปนิสัย (Characters) ผู้เรียน เพื่อการจัดหลักสูตรในการเรียนรู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเติบโตขึ้นไปเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ โดยไม่สูญเสียคุณค่าที่ดีของความเป็นมนุษย์”
การตกลงร่วมมือกันในครั้งนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาไทยในรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะของเยาวชนทั้ง Soft Skill และ Hard Skill ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน และสังคมโลก
เชื่อว่าในการร่วมลงมือครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กไทยมีโอกาสในการเรียนรู้ระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น