วันนี้เราก็จะพาเพื่อนๆ ไปพบกับอีกหนึ่งตำนานแห่งหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาของโลก นั่นก็คือห้องสมุดแห่งเอล็กซานเดรีย ที่เรียกได้เลยล่ะว่าเป็น ‘แหล่งวิทยาการแห่งแรกของโลก’
นักโบราณคดี ได้ขุดพบซากโบราณสถานที่เชื่อว่าเป็นซากของ หอสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย หรือ ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ และ วิทยาการของโลกแห่งแรกของโลก และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้จัดทำรายการหนังสือ นับว่าเป็นการจัดบรรณานุกรมที่เกิดขึ้นครั้งแรกของโลกเลยล่ะ
ทีมนักโบราณคดีของโปแลนด์และอียิปต์ ทำการขุดค้นบางส่วนของ เมืองอเล็กซานเดียร์ ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่ง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และได้พบสิ่งก่อสร้างซึ่งมีลักษณะคล้าย ห้องเรียน และหอประชุม ราว 2,000 ปีที่แล้ว ห้องสมุด แห่งนี้เคยเป็นศูนย์รวมของ นักคิด นักเขียนแห่งโลกโบราณ เป็นที่สะสมผลงานสำคัญๆของนักปราชญ์กรีก ทั้งของ พลาโต โซเครติส และของอีกหลายๆ คน แต่น่าเสียดายที่ผลงานเหล่านั้นถูกเผาทำลายไปพร้อมกับตัวห้องสมุด
จากการขุดค้นนักโบราณคดีค้นพบห้องเรียนขนาดใหญ่ถึง 13 ห้อง ซึ่งสามารถจุนักเรียนได้ถึง 5,000 คน แต่ละห้องมีเวทีสำหรับอาจารย์ หรือครูที่จะใช้สำหรับยืนสอนนักเรียน นับเป็นครั้งแรกที่มีการขุดพบห้องเรียนยุคกรีก-โรมัน ลักษณะนี้ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งนาย Zahi Hawass ประธานสภาวัตถุโบราณของอียิปต์ กล่าวว่าซากที่พบนั้น “อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกก็ว่าได้”
เมืองอเล็กซานเดรีย ที่ตั้งของ ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย อยู่ทางเหนือสุดของอียิปต์ เป็นเมืองเก่าที่ติดอยู่กับทะเลเมดิเตอเรเนียนเคย ปกครองโดยชาวเมืองอียิปต์ดั้งเดิมแล้วก็ตกเป็นของกรีก โรมันจนมาถึงการเข้ามาของศาสนาอิสลามจาก อาณาจักรออโตมัน เมืองนี้เลยมีศิลปะของทางกรีก โรมัน ตุรกี ปะปนกันอยู่
ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ในสมัยก่อน
– เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ได้ชัยชนะเหนือกรีก เอเชียไมเนอร์ และอียิปต์ และเมื่อยึดครองอียิปต์ได้ ก็สร้างเมืองหลวงที่ทรงตั้งพระทัยให้เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก คือเมืองอเล็กซานเดรีย และตั้งราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) ขึ้นปกครองอียิปต์ต่อมาจนสิ้นสุดที่พระนางคลีโอพัตรา ซึ่ง ปโตเลมี เป็นนักภูมิศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์ชาวกรีกโบราณ
– เมื่อ ราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) ขึ้นครองบัลลังก์อียิปต์ อเล็กซานเดรียก็ได้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลก นักคณิตศาสตร์และนักปราชญ์หลั่งไหล มาสู่เมืองนี้จากชื่อเสียงของห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ในสมัยนั้น การมีหนังสือ วรรณกรรมและสิ่งขีดเขียนอย่างสมบูรณ์ได้ทำให้ ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย เป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดในโลกในยุคนั้นและเป็นศูนย์วิทยาการ ที่นักปราชญ์ทุกคนจะต้องไปเยือนเลยก็ว่าได้
– ห้องสมุดนี้ตั้งขึ้นจากแนวคิดของ Demetrius Phalaerus ที่ โน้มน้าวให้ปโตเลมีรวบรวมหนังสือดีๆ โดยบอกว่าคนเก่งกาจจะตามมาเอง จึงได้มีการรวบรวมหนังสือจากทั่วอียิปต์ กรีก เอเชียไมเนอร์ และยุโรป ความพยายามในการหาหนังสือนั้นเข้มข้น ชนิดที่ว่านักท่องเที่ยวที่เข้าอเล็กซานเดรียทุกคนจะถูกริบหนังสือ โดยหนังสือนั้นจะถูกนำไปคัดลอก (โดยการเขียนด้วยมือ) แต่ห้องสมุดจะขอเก็บต้นฉบับไว ้และคืนฉบับคัดลอกให้เจ้าของ ห้องสมุดได้รวบรวมหนังสือถึงหกแสนเล่มในเวลาต่อมา และเป็นที่รู้กันว่านักคณิตศาสตร์สามารถหาความรู้ ทุกอย่าง ในโลกได้โดยการมาที่ห้องสมุดนี้
– ในสมัยนั้นเป็นห้องสมุดที่อนุญาตให้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ขุนนาง และชนชั้นที่ร่ำรวยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปใช้บริการในห้องสมุดได้ ถือว่าเป็นอภิสิทธิ์สุดๆ เลยล่ะ
– ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า Euclid ได้เคยสอนวิชาเรขาคณิตที่ห้องสมุดนี้, Erotosthenes ผู้พิสูจน์ว่าโลกกลมเป็นคนแรกก็เคยทำงานเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดนี้, อคีมีดีส (Archimedes) ประดิษฐ์รหัสวิดน้ำแบบสกูลซึ่งยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ๆ ยูคลิด (Euclid) ค้นพบทฤษฎีเรขาคณิตอีกด้วย
– ในสมัยนั้น ศูนย์กลางการศึกษาคณิตศาสตร์เคยอยู่กับพิธากอรัส แต่สองศตวรรษหลังจากพิธากอรัสเสียชีวิตลง ศูนย์การเรียนเลขได้ย้ายไปอยู่ที่อเล็กซานเดรีย
– และเมื่อ จูเลียด ซีซาร์ จักรพรรดิ์โรมัน (Julius Caesar) โจมตีและเข้ายึดเมืองของพระนางคลีโอพัตรา เมื่อ 48 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียด ซีซาร์ ได้เผาบางส่วนของห้องสมุด
– พระนางคลีโอพัตรา ทรงเป็นผู้รักหนังสืออย่างยิ่ง จึงทรงตั้งพระทัยจะบูรณะห้องสมุดแห่งนี้ให้กลับมาเหมือนเดิม ภายในวิหารเซอราเปียม (Serapeum) โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายพลมาร์ค แอนโธนี่ (ไม่ได้แสดงความรักด้วยการมอบดอกไม้หรือแหวนเพชร) แต่จัดหาหนังสือมาเป็นของขวัญให้แก่พระนางคลีโอพัตรากว่า 200,000 ม้วนมาไว้ในห้องสมุด ซึ่งไปปล้นยึดมาจากห้องสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในขณะนั้น คือหอสมุดแห่งเพอร์กามอน (Pergamon)
– แต่ในที่สุด ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) แห่งนี้ก็ถูกทำลายไปอย่างย่อยยับ ในสมัยธีออโดเชียส กษัตริย์แห่งโรมันซึ่งสั่งให้ทำลายเอกสาร วัดวาอารามต่างซึ่งไม่ใช่ของศาสนาคริสต์ และถือว่าเป็นพวกนอกรีตในปี 391 น่าเสียดายจริงๆ
ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ในปัจจุบัน
– นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ Mustafa al-Abbadi เป็นบุคคลแรกที่คิดฟื้นคืนชีพห้องสมุด Alexandria ขึ้นมาอีก ภายใต้อุปสรรคมากมาย แต่เมื่อรัฐบาลอียิปต์, รัฐบาลอิรัก, รัฐบาลฝรั่งเศส ร่วมให้เงินทุนในการสร้าง และองค์การ Unesco ก็เห็นด้วยในการให้ผู้เชี่ยวชาญ การจัดสร้างห้องสมุดอเล็กซานเดรียให้ยิ่งใหญ่เหมือนในสมัยก่อน ก็เริ่มเป็นจริงขึ้นมา
– ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ได้สร้างขึ้นมาใหม่ใกล้กับพื้นที่เดิมที่เคยสร้างห้องสมุดมาแล้วครั้งหนึ่ง ในสมัยปโตเลมีที่ 1 และ 2 เป็นเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว ซึ่งใช้เวลาการสร้างใหม่นานกว่า 12 ปี และเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2002 มีสถาปัตยกรรมทันสมัย และมีระบบป้องกันอัคคีภัยเป็นอย่างดี โดยรัฐบาลอียิปต์คิดหวังจะให้ห้องสมุดนี้เป็นศูนย์กลางการเรียน การวิจัยอารยธรรมของอียิปต์ กรีซ และประเทศต่างๆ ในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
– แถมยังรวบรวมหนังสือทุกภาษาทั่วโลก มีหนังสือมากกว่า 8 ล้านเล่ม วารสาร 4,000 ฉบับ และหนังสือหายาก 50,000 เล่ม ต้นฉบับตัวเขียน แผนที่และโสตทัศนวัสดุ 50,000 รายการ พื้นที่ห้องอ่านหนังสือ 70,000 ตารางเมตร อาคารที่เป็นท้องฟ้าจำลอง อนุรักษ์อารยธรรมโบราณ มีจอภาพ 9 จอ พร้อมเครื่องฉาย 9 เครื่อง ในแต่ละภาพสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ เป็นการนำเสนอภาพประวัติศาสตร์ของอียิปต์ 5,000 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียวล่ะ
เป็นอีกหนึ่งตำนานโลกที่น่าสนใจเลยว่ามั้ย ไว้วันหลังเราจะหาสาระดีๆ แบบนี้มานำเสนอเพื่อนๆ อีกนะจ๊ะ ไว้เรามาพบกันใหม่ได้ทุกๆ วันกับ ScholarShip.in.th นะครับผม
Source: TeenMthai