‘Statement of Purpose (SOP)’ หรือ ‘คำแถลงจุดมุ่งหมาย’ คือเอกสารสำคัญในการใช้สมัครเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย เป็นเอกสารแนะนำตัวในขณะเดียวกันก็โน้มน้าวใจคณะกรรมการเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณมีความสำเร็จ และคุณสมบัติที่เพียบพร้อมในการเรียนต่อระดับที่สูงขึ้น
วันนี้เราจึงมีคำแนะนำดีๆ จาก Berkeley Graduate Division จาก University of California, Berkeley มากฝาก 😊 โดย SOP ที่ดีสามารถแบ่งองค์ประกอบต่างๆ ได้ถึง 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1: แนะนำตัวเอง, ความสนใจ และแรงจูงใจ
บอกคณะกรรมการย์และคณาจารย์ให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าอะไรคือสิ่งที่คุณสนใจ และอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นให้คุณอยากเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษา สิ่งนี้ควรสั้นและตรงประเด็น อย่าใช้เวลามากเกินไปกับส่วนนี้
ส่วนที่ 2: สรุปเกี่ยวกับการศึกษา และประวัติการทำงานก่อนหน้านี้
a) กล่าวถึงหัวข้อวิจัยที่คุณทำ ระบุชื่อโปรเจกต์ ชื่อผู้ร่วมงาน รวมถึงความรับผิดชอบของคุณคืออะไรและผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร ในส่วนนี้ควรเขียนในเชิงหลักการและเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะคณะกรรมการ อาจารย์ต่างๆ จะต้องอ่านในส่วนนี้
b) กล่าวถึงเอกสารสำคัญ หรือโครงการวิทยานิพนธ์ที่คุณเคยทำเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงเอกสารใดๆ ก็ตามทางวิชาการที่นอกเหนือจากที่หลักสูตรกำหนด
c) กล่าวถึงประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีความรับผิดชอบในการทดสอบ ออกแบบ วิจัย หรือฝึกงานในสาขาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาโท
ส่วนที่ 3: พูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมล่าสุดที่ได้ทำ และกิจกรรมปัจจุบันที่กำลังทำอยู่
หากคุณจบการศึกษาและเลือกทำงานก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อ ให้ระบุถึงสิ่งที่คุณเคยทำ เช่น การทำงานในบริษัท หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร, เคยเป็นหัวหน้าทีม ออกคำสั่งต่างๆ เป็นต้น
ประเด็นคือต้องแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ ในส่วนนี้ยังสามารถระบุได้อีกว่า ประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาช่วยให้คุณมุ่งเน้นการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาได้อย่างไร
ส่วนที่ 4: อธิบายความสนใจทางวิชาการของคุณอย่างละเอียด
ในส่วนนี้คุณต้องระบุสิ่งที่คุณต้องการเรียนในระดับบัณฑิตวิทยาลัยอย่างละเอียด เพื่อโน้มน้าวภาควิชาว่าคุณมีความเข้าใจในขอบเขตการวิจัยในสาขาวิชาที่ต้องการเรียนรู้และมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
a) ระบุพื้นที่ที่คุณสนใจ ตามหลักการแล้วคือการตั้งคำถาม, กำหนดปัญหา หรือระบุหัวข้อที่คุณต้องการกล่าวถึง และตั้งคำถามที่เกิดจากการวิจัยร่วมสมัย เป็นต้น
b) ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสาขาที่คุณสนใจในเว็บไซต์ รวมถึงดูข้อมูลอาจารย์และงานวิจัยของพวกเขา ลองหาว่ามีอาจารย์ที่มีความสนใจในการวิจัยในทำนองเดียวกันกับคุณหรือไม่? ถ้าใช่ ให้ระบุสิ่งนี้ลงไปด้วย
อย่าลืมตรวจสอบข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วยนะ เพราะบางที่อาจต้องการให้คุณระบุชื่อศาสตราจารย์หรืออาจารย์ที่คุณอาจอยากทำงานลงไปด้วย
c) ควรเขียนจบ Statement of Purpose ในแง่บวก แสดงออกถึงความตื่นเต้น และความพร้อมสำหรับความท้าทายที่กำลังรออยู่ข้างหน้า
6 เคล็ดลับสำคัญที่ควรรู้
1. สิ่งที่คณะกรรมการจะตั้งใจอ่านระหว่างบรรทัดคือ ‘แรงจูงใจในตนเอง, ความสามารถที่มี และศักยภาพในฐานะนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา’
2. เน้นย้ำทุกสิ่งด้วยมุมมองเชิงบวก และเขียนด้วยความกระตือรือร้นไม่ใช่เพียงแค่พูดเฉยๆ
3. แสดงให้เห็นถึงทุกข้อเท็จจริงด้วยการยกตัวอย่าง อย่าเพียงแค่พูดว่าคุณเป็นคนแบบไหน โดยที่ไม่มีเหตุการณ์ที่เชื่อถือได้ประกอบ
4. หากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่ส่งผลต่อเกรดการศึกษา เช่น ความยากจน, ความเจ็บป่วย หรือการทำงานมากเกินไป ให้ระบุเหตุผลเหล่านี้ลงไป
ควรเขียนให้เห็นถึงความพยายามแม้จะพบเจอกับอุปสรรค คุณสามารถอธิบายส่วนนี้เพิ่มเติมได้ในการเขียน Personal Statement
5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าในแต่ละหัวข้อนั้นเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
6. การเขียน Statement of Purpos ในอุดมคติควรกล่าวถึงทุกประเด็นได้อย่างกระชับและได้ใจความ ควรมีตัวหนังสือประมาณ 500 – 1000 คำ ภายใต้รูปแบบ 1-2 single space และตัวอักษรขนาด 12 เป็นต้น
ตัวอย่าง Statement of Purpose ที่ได้รับการคัดเลือก
ที่มา: berkeley