ในยุคสมัยนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่สามารถใช้งานได้มากกว่าหนึ่งภาษาจะเป็นคนที่ได้เปรียบในโลกของการทำงาน โดยเฉพาะปัจจุบันที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังมาแรงทำให้คนไทยที่ได้ภาษาที่สองกำลังเป็นที่ต้องการตัว
หากคุณพ่อคุณแม่อยากเลี้ยงลูกให้เป็น “เด็กสองภาษา” หรืออาจจะได้มากกว่านั้น มีอะไรที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้บ้าง มีสิ่งใดที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกแบบ bilingual เป็นไปได้ง่ายขึ้นและได้ประสิทธิภาพที่ดี ขอให้ติดตามบทความนี้ไปด้วยกันค่ะ
Bilingual คืออะไร?
การเป็นคนสองภาษา (Bilingual) นั้น หมายถึง การที่คนๆหนึ่งสามารถฟังเข้าใจและพูดได้ 2 ภาษา ไม่ว่าจะอ่านหรือเขียนได้หรือไม่ก็ตาม หรือจะสามารถอ่านเพื่อจับใจความได้ดีแค่ไหน เขียนได้ดีแค่ไหน ขอเพียงสื่อสารเข้าใจ โดยไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ภาษาแรกมาก่อนอีกภาษานานเท่าไหร่ หรือจะเรียนรู้ทั้งสองภาษาไปพร้อมกัน ก็สามารถเรียกว่าเป็นคนสองภาษาได้แล้ว แต่การเป็นคนสองภาษาก็มีด้วยกันหลายแบบ ดังนี้
1. Co-ordinate Bilingual (Simultaneous) หรือสามารถพูดสื่อสารได้ดีแต่ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนเจ้าของภาษาทั้งสองภาษา คำบางคำอาจยังใช้ผิดบ้างเล็กน้อย
2. Compound Bilingual (Sequential) คือ มีภาษาหนึ่งที่สื่อสารได้ดีกว่าอีกภาษา เพราะว่าได้ใช้บ่อยกว่า มีสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้องใช้ภาษานั้นมากกว่า
3. Balanced Bilingual คือ สามารถสื่อสารได้ดีทั้ง 2 ภาษา ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ทำได้ดีเหมือนเป็นเจ้าของภาษา
4. Ambi-bilingual คือมีภาษาแรกเป็นทั้ง 2 ภาษา สามารถพูดได้สำเนียงไม่ผิดเพี้ยน ฟัง พูด อ่าน เขียนได้ เขียนเรียงความได้ อ่านหนังสือเรียนยากๆ ได้ทั้ง 2 ภาษา
5. Semi-bilingual คือ สามารถสื่อสารได้แต่ไม่ได้ดีทั้ง 2 ภาษา พูดได้ ฟังได้ แต่จะอ่านหนังสือเรียนที่ยากๆไม่ได้ จับใจความไม่ค่อยได้ สิ่งนี้กำลังเป็นปัญหาของโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนสองภาษาหลายแห่งในโลก เนื่องจากเด็กไม่ได้รับการกระตุ้นว่าจะต้องฟัง พูด อ่าน เขียนให้ได้สมบูรณ์แบบแม้แต่ภาษาเดียว
6. Multi-lingual คือ สามารถที่จะสื่อสารได้มากกว่า 2 ภาษา มีทั้งภาษาที่เป็นภาษาหลักหรือเป็นเจ้าของภาษานั้น ภาษาที่ฟังพูดได้แต่เขียนไม่ดี และยังมีอีกที่พอรู้เรื่องบ้างแต่ไม่ใช่เจ้าของภาษา คนที่เป็น Multi-lingual มักจะมาจากครอบครัวที่พ่อและแม่มาจากคนละประเทศและได้เรียนโรงเรียนที่ใช้อีกภาษาที่ไม่ได้ใช้ที่บ้าน
พัฒนาการด้านภาษาของลูก
พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย ถ้าพ่อ แม่ และคนที่คุยด้วยบ่อยๆ พูดภาษาอะไร เด็กก็จะสามารถจับสำเนียงภาษานั้นๆ ได้ดีขึ้น เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ช่วงที่ยังเล็กอยู่ ถ้าเด็กได้มีโอกาสฟังคนพูดหลายๆ ภาษา ก็จะทำให้การฝึกเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ความเชื่อที่ว่าเมื่อเด็กได้ฟังหลายภาษาจะทำให้พูดช้าลง เป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง เด็กจะพูดช้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง ไม่เกี่ยวกับการที่เขาได้ฟังหลายภาษา เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่ต่างคนต่างมากจากคนละประเทศไม่ต้องห่วงประเด็นนี้
5 ความคิดของพ่อแม่ที่หยุดยั้งการฝึกเด็กสองภาษา
1. คิดว่าลูกจะเป็นเด็กสองภาษาโดยอัตโนมัติ
บางครั้งพ่อแม่อาจเผลอคิดไปว่าเมื่อพ่อแม่ใช้สองภาษาสนทนากับลูก ลูกก็จะสามารถใช้สองภาษาได้เอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเด็กต้องใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจอีก 1 ภาษา โดยพ่อแม่ต้องให้เวลากับลูก เพราะถ้าเด็กไม่ใช้เวลาในการพัฒนาทักษะด้านการพูดและการเข้าใจในภาษาได้อย่างถูกต้อง คุณอาจจะทำให้ลูกกลายเป็นเพียงเด็กที่เข้าใจสองภาษาเฉยๆ คือสามารถเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูด แต่ไม่อาจสื่อสารเป็นภาษานั้นๆ โต้ตอบกลับมาได้
2. ลงทุนไปกับของเล่นและหนังสือราคาแพง
ของเล่นหรืออุปกรณ์ราคาแพงที่มีจุดประสงค์ในการใช้สอนภาษาให้กับลูกนั้น ถึงแม้ว่าจะช่วยเสริมพัฒนาการและทักษะให้กับลูกได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดในการสอนและปลูกฝังเรื่องภาษาให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ทำได้โดยการส่งเสริมหรือหาโอกาสให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์และได้พูดคุยกับคนที่มีความคล่องในภาษานั้นๆ การที่เด็กได้ตอบโต้ มีการเรียนรู้ และการได้สนทนา จะช่วยให้ลูกมีความคล่องในการใช้ภาษายิ่งขึ้น วิธีนี้ยังสามารถช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณพ่อคุณแม่ได้
3. แก้คำผิดให้ลูกบ่อยเกินไป
ในระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกสนทนาภาษาที่สอง การคอยแก้ไขประโยคหรือคำศัพท์ที่ลูกพูด อาจกลายเป็นสิ่งลดทอนกำลังใจในการเรียนรู้ของเด็กๆได้ ถึงแม้จะเป็นความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ที่พยายามจะแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะไปตัดบทในขณะที่ลูกกำลังพูดหรือเขียนอยู่ ในทางตรงกันข้ามพ่อแม่ควรจะปล่อยความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ให้ผ่านไป และคอยแก้ไขในจุดใหญ่ๆ ให้เขาบ้างเป็นครั้งคราว เพราะท้ายที่สุดแล้ว ลูกก็จะเข้าใจในจุดที่เขาทำผิดพลาดนั้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป
4. ใช้การดูทีวีเป็นตัวช่วยสอนภาษา
การเรียนรู้ภาษานั้นจำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลถึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้ ดังนั้นการให้ลูกได้ดูทีวีรายการภาษาอื่นๆ ไม่ได้เป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสอนภาษาแก่พวกเขา แน่นอนว่าเด็กๆ อาจจะได้เรียนรู้คำศัพท์นิดๆ หน่อยๆ และฝึกฟังสำเนียง แต่มันก็ไม่ใช่เครื่องมือที่จะทำให้ลูกใช้ภาษาและช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านภาษาแก่ลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ใช้ภาษาได้คล่องจะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาได้อย่างยั่งยืนกว่า
5. มี mindset ที่ผิด
พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่ามันสายเกินไปหากไม่ได้สอนลูกตั้งแต่เขายังเล็ก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันไม่สำคัญว่าตอนนี้ลูกของคุณจะอายุเท่าไหร่ ขอเพียงลูกมีศักยภาพที่จะเรียนรู้และเข้าใจในภาษา และตราบเท่าที่พ่อแม่มีความตั้งใจจริงในการสอนลูกใช้สองภาษา ถึงแม้จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากก็อย่าเพิ่งถอดใจ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมแพ้ ตั้งใจจะสอนลูกหรือเลี้ยงลูกให้พูดอย่างน้อย 2 ภาษา มั่นใจได้ว่าจะเกิดผลดีกับลูกๆ แน่นอน
สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเพื่อให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา
1. ภาษาที่ใช้ในบ้านต้องเข้มแข็ง
ภาษาหลักที่ใช้กันในบ้านต้องดีก่อน ถึงจะสามารถพัฒนาภาษาที่สองได้ เรื่องนี้สำคัญมาก เห็นได้จากหลายบ้านที่พ่อแม่คุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษทั้งที่ตัวเองเป็นคนไทย แต่ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะสอนหรือพูดคุยภาษาไทยกับลูก ไม่ได้สนใจว่าเด็กจะอ่านเขียนไทยดีหรือไม่ เมื่อลูกเข้าโรงเรียน หากการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนไม่เข้มข้นพอ เด็กจะออกมาเป็นคนที่ไม่ได้แม้แต่ภาษาเดียว จะได้ภาษาแค่พอสื่อสารได้ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเขาไม่ใช่คนที่มีความสามารถด้านภาษาดีเลิศ จะลงท้ายที่ไม่ได้ภาษาอะไรเลย เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่เป็นคนไทย ควรพูดภาษาไทยกับลูก ให้เขามีภาษาไทยที่เข้มแข็งก่อน จึงค่อยให้ลูกหัดภาษาอังกฤษ
2. เมื่อพ่อและแม่มีภาษาหลักคนละภาษา
หากคุณพ่อและคุณแม่มีภาษาหลักเป็นคนละภาษากัน ให้ต่างคนต่างพูดภาษาของตนเองเวลาพูดกับลูก เช่น แม่เป็นคนไทย พ่อเป็นฝรั่งเศส ก็ให้แม่พูดไทยกับลูกเสมอ และพ่อพูดฝรั่งเศสเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง หากคุณต้องคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ก็คุยกันได้เมื่ออยู่ครบทั้งครอบครัว แต่คุณแม่จะไม่ข้ามไปพูดฝรั่งเศสกับลูก เพราะนอกจากเราจะไม่ใช่สำเนียงเจ้าของภาษาแล้ว ก็จะทำให้เด็กเกิดความสับสนด้วย
3. หากพ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษทั้งคู่
หากทั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษกันทั้งคู่ ก็อย่าพูดภาษาอังกฤษกับลูก ถ้าให้ลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติแล้ว เด็กจะสามารถเรียนรู้ปรับตัวได้เอง ช่วงแรกอาจจะยากหน่อย แต่ไม่นานเขาจะทำได้เอง คุณพ่อคุณแม่อาจจะอ่านหนังสือให้ลูกเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่ช่วงที่คุยกันให้คุยภาษาที่ตัวเองถนัดดีกว่า
4. อย่าให้ลูกเรียนแค่ในห้องเรียน
วิธีพัฒนาภาษาที่ดีที่สุดคือการได้ใช้งานจริง ลองพาลูกไปเข้ากลุ่ม playgroup ที่มีเด็กจากต่างชาติร่วมด้วย หาเพื่อนเล่นที่พูดอีกภาษาให้ลูก ดูภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอังกฤษด้วยวิธีอื่นๆ ยิ่งกับเด็กเล็กยิ่งไม่แนะนำให้ไปเรียนพิเศษภาษาต่างๆ เพิ่มเติม จริงอยู่ที่ว่าการหัดยิ่งเล็กยิ่งเป็นเร็ว แต่เด็กที่ได้ใช้เวลากับพ่อแม่ ได้วิ่งเล่น เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ต้องนั่งอยู่แต่ในห้องเรียน ซึ่งพัฒนาการโดยรวมของลูกย่อมสำคัญกว่าเสมอ
มีการวิจัยว่าเด็กเล็กต้องได้รับรู้ภาษา 30% ของเวลาการตื่นนอนโดยประมาณ ถึงจะมีความสามารถพูดภาษานั้นๆ ได้คล่องแคล่ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ลูกยังเป็นเด็กเล็ก เขาจะมีความสามารถในการเรียนรู้สูง แต่เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่เขาต้องการเวลาพักผ่อนสูงเช่นเดียวกัน การเพิ่มเติมทักษะในด้านภาษาอาจจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นไปที่สองภาษาที่จำเป็นที่สุดก่อน
คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่าการที่เด็กจะฟัง พูด อ่าน เขียนได้เหมือนเจ้าของภาษาได้มากกว่า 1 ภาษานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเก่งด้านภาษา ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านการคิดคำนวณ ฯลฯ หากเขาไม่ถนัดด้านภาษาจริงๆ คุณพ่อคุณแม่อย่ากดดันลูกเมื่อเขาทำไม่ได้ และอย่าเปรียบเทียบลูกกับเด็กบ้านอื่นเด็ดขาด สิ่งที่ต้องทำคือหาจุดแข็งของลูกและหันไปพัฒนาจุดนั้นแทนจะดีกว่า
ที่มา: Story Mother Hood Thailand