วิทยาศาสตร์และศิลปะดูเหมือนเป็น 2 สิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ขนาดตอนเรียนหนังสือเรายังต้องเลือกเรียนระหว่างสายวิทย์หรือสายศิลป์เลย ไม่มีสายที่ผสมระหว่าง 2 แขนงนี้เข้าด้วยกัน
แต่ก็ใช่ว่า 2 สิ่งนี้จะมาอยู่ร่วมกันไม่ได้ เรื่องราวของ David C. Roy จะทำให้เพื่อนๆ ได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และศิลปะสามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัวเช่นกัน
David เรียนจบจากสาขาฟิสิกส์มา จากนั้นเขาก็เริ่มทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นงานที่ตรงสายก่อนจะผันตัวไปเป็นศิลปิน
ทว่าเขาไม่ได้เป็นคนที่ริเริ่มความคิดการสร้างผลงานศิลปะ Marji ภรรยาของเขาซึ่งเรียนศิลปะมาจาก Rhode Island College of Design ต่างหากที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา
เธอสร้างงานศิลปะที่เคลื่อนไหวได้ หรือที่เราเรียกว่า Kinetic Art โดยใช้เชือก ไม้ หรือฟันเฟืองมาประกอบกัน และต้องทำให้มันเคลื่อนไหวเพื่อชมความงามที่แท้จริง
เมื่อ David ได้เห็นผลงานของเธอ เขาจึงนำความรู้ด้านฟิสิกส์ของตัวเองมาประยุกต์ให้เกิดงานศิลปะบ้าง จนกลายเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเต็มตัวอย่างทุกวันนี้
งานศิลปะที่ David และ Marji สร้างร่วมกันมีความพิเศษตรงที่ว่า มันไม่ได้เพียงแค่เคลื่อนไหวได้เท่านั้น แต่มันใช้หลักฟิสิกส์ในการส่งแรงถึงส่วนต่างๆ ของงานให้เคลื่อนที่ไปด้วย
ที่สำคัญด้วยการคำนวณของ David ทำให้แรงที่เราส่งไปตอนแรกนั้น ทำให้ผลงานศิลปะเคลื่อนไหวของพวกเขาเคลื่อนที่ได้ต่ออีกนานเป็นวันเลยทีเดียว
และมันก็ยังดูสวยงามมากซะด้วย เวลามองดูผลงานศิลปะของเขาเคลื่อนไหวนั้น ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังรับชมงานศิลปะบำบัดอยู่ยังไงยังงั้น
David เล่าว่าเขาใส่ใจในรายละเอียดของผลงานแต่ละชิ้นอย่างมาก เนื่องจากพวกมันสร้างขึ้นจากไม้ที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน การทำให้มันสวยงาม และต้องคำนวณแรงในการเคลื่อนที่ของมันจึงต้องใช้เวลานาน
อย่างไรก็ตามเขาก็รักในการสร้างผลงานเหล่านี้ เนื่องจากเป็นการนำความรู้ที่เขาเรียนมา ออกมาสร้างเป็นผลงามที่สวยงามให้คนอื่นชมได้ เขาจึงเลือกเป็นศิลปินผู้ใช้ความรู้ฟิสิกส์ประกอบมานานกว่า 40 ปีแล้ว
ชมเรื่องราวและผลงานของ David ได้ในคลิปวิดีโอนี้
เห็นไหมว่าความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และศิลปะนั้นต่างก็มีประโยชน์ และเมื่อเรามีความคิดสร้างสรรค์มาประกอบการใช้ความรู้เหล่านั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
นอกจากนี้ David ยังเป็นตัวอย่างของคนที่ทำงานไม่ตรงสาย ซึ่งเบี่ยงจากสายวิทย์มาทำอาชีพสายศิลป์ แต่ก็ยังทำงานโดยประยุกต์ใช้ความรู้เก่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานได้อย่างมีความสุข
ที่มา: Inspire More, WIRED