บางสิ่งอาจถูกมองว่าไร้ค่า ทว่าสำหรับอีกหลายคนมันคือโอกาสทางการเรียนรู้
เรื่องราวที่น่าทึ่งของห้องสมุดในอังการา ประเทศตุรกีที่เกิดขึ้นได้จากความทุ่มเทของคนเก็บขยะ ทุกวันในเมืองหลวงแห่งนี้ มีข้าวของมากมายที่ถูกนำมาทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือ “หนังสือ”
เป็นเวลานานหลายเดือนที่คนเก็บขยะในเมืองจะใช้เวลาหลังเลิกงานช่วยกันรวบรวมหนังสือที่ถูกนำมาทิ้ง ก่อนจะจัดหมวดหมู่และซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
จากนั้น เมื่อเก็บรวบรวมได้พอสมควร พวกเขาจึงช่วยกันตั้งห้องสมุดในเขต Çankaya ของอังการา เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ผู้คนจึงได้นำหนังสือมาบริจาคให้พวกเขาโดยตรง แทนที่จะนำไปทิ้งเปล่า
แรกเริ่ม ห้องสมุดแห่งนี้มีขึ้นเพื่อให้บริการกับเหล่าพนักงานคนเก็บขยะและครอบครัวเท่านั้น แต่เมื่อมีหนังสือบริจาคเข้ามามายมาย รวมทั้งความสนใจที่กระจายไปทั่วชุมชน ในที่สุดพวกเขาจึงตัดสินใจเปิดเป็นห้องสมุดสาธารณะ ตั้งแต่เดือนกันยายนในปี 2020 เป็นต้นมา
“เราเริ่มคุยกันถึงแนวคิดการสร้างห้องสมุดจากหนังสือที่ถูกทิ้งเหล่านี้มาพักใหญ่ บอกได้เลยว่าห้องสมุดนี้เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนของทุกๆ คน” Alper Tasdelen นายกเทศมนตรีเมือง Çankaya กล่าว
ปัจจุบัน ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือมากกว่า 6,000 เล่ม แบ่งประเภทตั้งแต่วรรณกรรมไปจนถึงสารคดีและเรื่องน่ารู้ นอกจากนี้ยังมีหมวดหมู่หนังสือเด็ก ทั้งการ์ตูน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และความรู้ทางวิทยาศาตร์เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดยตัวอาคารที่นำมาสร้างเป็นห้องสมุดนั้น แต่เดิมเป็นโรงงานอิฐที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เมื่อภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน พวกเขาจึงเปลี่ยนมันให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้
ผู้ใช้บริการจะสามารถยืมหนังสือได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถต่อเวลาได้หากจำเป็น
“มีคนทิ้งหนังสือเหล่านี้ไว้ตามท้องถนน ทว่าในอีกแง่หนึ่ง ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการมัน” Tasdelen กล่าว
การบริจาคหนังสือยังมีเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้คนในชุมชนมีตัวเลือกในการเรียนรู้มากขึ้น ทั้งยังส่งต่อโอกาสให้กับผู้คนได้เป็นจำนวนมาก
“มีคุณครูจากหมู่บ้านทั่วตุรกีทำเรื่องขอยืมหนังสือเพื่อการศึกษา” Tasdelen กล่าว
นอกจากนี้ ทางภาครัฐยังได้ทำการจ้างพนักงานเต็มเวลาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนที่มาใช้บริการ มีการปรับปรุงพื้นที่สำหรับผู้อ่าน รวมถึงเพิ่มกระดานหมากรุกสำหรับผู้เยี่ยมชมด้วย
ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่นักปั่นจักรยานที่มักเดินทางมาเพื่อดื่มชาและอ่านหนังสือในระยะเวลาสั้นๆ
“ก่อนหน้านี้ผมอยากมีห้องสมุดในบ้าน แต่ตอนนี้เรามีห้องสมุดที่ใหญ่กว่านั้นแล้ว” Serhat Baytemur คนเก็บขยะวัย 32 ปีกล่าว
จากความทุ่มเทเล็กๆ ได้เพิ่มโอกาสแห่งการเรียนรู้มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาครัฐให้การสนับสนุน ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอาจมีเด็กๆ อีกหลายล้านคนได้รับโอกาสแบบนี้เช่นเดียวกัน :)
ที่มา: edition.cnn