ในสหรัฐอเมริกานอกเหนือจากสายอาชีพ สายการศึกษา และนักวิจัยแล้ว อีกหนึ่งสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการ มีรายได้ดี และชาวต่างชาติสามารถทำได้คือ “สายสุขภาพ” นั่นเองค่ะ
หนึ่งในอาชีพที่หลายคนสนใจคือการเป็น “หมอ” ซึ่งแน่นอนว่ากว่าที่ชาวต่างชาติจะได้เป็นหมอในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
วันนี้เราจึงมีแนวทาง 10 ขั้นตอนที่ต้องผ่านก่อนจะได้เป็นหมอในสหรัฐอเมริกามาฝากค่ะ :D
1. ต้องสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก่อน
ในส่วนนี้จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
* ผู้ที่เรียนในสหรัฐอเมริกา : สามารถเรียนจบสาขาใดก็ได้ในหลักสูตร 4 ปี (โดยมากจะเน้นที่สาขาชีววิทยา หรือเคมีเป็นหลัก) จากนั้นจึงจะเรียนต่อในหลักสูตรแพทยศาสตร์อีก 4 ปี หลังเรียนจบต้อฝึกงานก่อนแล้วจึงจะสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ค่ะ
* ผู้เรียนจากต่างประเทศ : ต้องสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาและได้รับการยอมรับในสหรัฐอเมริกา
2. ผ่านการสอบ MCAT
MCAT หรือ Medical College Admission Test เป็นข้อสอบสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ซึ่งจะใช้เวลาสอบประมาณ 5 ชั่วโมง มีวิชาที่เกี่ยวข้องคือ ฟิสิกส์ ชีววิทยา การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการใช้ภาษา (Verbal Skills)
ยิ่งได้คะแนนสูงยิ่งมีโอกาสที่จะได้รับการตอบรับมาก อีกทั้งคะแนน MCAT ยังเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา หมู่เกาะแคริบเบียน และออสเตรเลีย
3. สมัครเรียนแพทย์
อย่างที่กล่าวไปในข้อที่ 1. ว่าหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่ว่าสาขาไหนก็ตาม ผู้ที่ต้องการเป็นหมอจะต้องสมัครเรียนในโรงเรียนแพทยศาสตร์และเรียนต่ออีก 4 ปี พร้อมผ่านการฝึกงานเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการสอบรับใบประกอบวิชาชีพค่ะ
4. ฝึกงาน
หลังเรียนจบ 2 ปีในโรงเรียนแพทย์ คุณจะต้องเริ่มต้นการเป็นหมอฝึกหัดผ่านหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีก 2 ปี โดยจะแบ่งประเภทออกเป็นวิทศาสตร์พื้นฐานและการหมุนเวียนไปตามคลินิกต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความเข้าใจในองค์ความรู้และฝึกฝนด้านเทคนิครวมถึงแง่มุมต่างๆ ของการใช้ยารักษา
5. สอบใบประกอบวิชาชีพ
ใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (USMLE) จะเป็นการสอบ 3 ขั้นตอนเพื่อให้ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในการประกอบอาชีพคุณหมอ โดยได้รับการสนับสนุนจากFederation of States Medical Board (FSMB) และ National Board of Medical Examiners (NBME)
โดยการสอบ 2 ขั้นตอนแรกจะเกิดขึ้นในช่วงที่เรียนในโรงเรียนแพทย์ จากนั้นผู้เรียนจะต้องผ่านการฝึกงานอย่างน้อย 1 ปีในโรงพยาบาลของสหรัฐอเมริกา แล้วจึงจะมีสิทธิ์ในการสอบขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้ได้รับใบประกอบวิชาชีพค่ะ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาและผ่านการฝึกอบรมเป็นหมอฝึกหัดตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วจึงจะมีสิทธิ์ในการสมัครสอบขอใบรับรองวิชาชีพนี้ได้
6. หาข้อมูลและสมัครศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง
ในช่วงปีสุดท้ายของโรงเรียนแพทย์ ผู้เรียนจำต้องเริ่มมองหาสถานที่สำหรับฝึกอบรมโดยเน้นที่สาขาเฉพาะทางที่สนใจเพื่อให้ตรงกับเป้าหมายในอนาคตมากที่สุด
และเนื่องจากมีผู้สมัครเป็นจำนวนมากในแต่ละปี จึงได้มีระบบ “Matching” เกิดขึ้นโดยทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้กำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสม หากใครที่ตรงกับเงื่อนไขเหล่านั้นก็จะได้รับเลือกนั่นเอง ในขั้นตอนนี้ผู้สมัครที่จะฝึกงานได้ต้องมีคะแนน USMLE สูงกว่า 200/82 คะแนนขึ้นไปค่ะ
7. เข้าสู่ช่วงฝึกงานเต็มตัว
ในช่วงนี้จะเป็นการใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาคนไข้จริงๆ โดยหมอฝึกหัดจะต้องได้รับการอบรมเชิงลึกและฝึกทักษะให้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบขั้นตอนสุดท้าย
8. ผ่านการสอบ USMLE 3
การสอบที่จะวัดศักยภาพความเป็นหมอของคุณซึ่งจะประเมินทั้งจากความสามารถขณะเป็นหมอฝึกหัด ความรู้ความสามารถ รวมไปถึงมุมมองที่มีต่อวิชาชีพอีกด้วย
9. รับใบรับรองประกาศนียบัตรวิชาชีพแพทย์
หลังเรียนจบและได้รับใบรับรองวุฒิการศึกษาแล้ว คุณจะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางกรแพทย์จากรัฐ (กรณีสอบผ่าน) ซึ่งแต่ละฉบับจะมีข้อกำหนดด้านใบอนุญาตและแผนปฏิบัติการที่ต้องทำตามเงื่อนไข
10. หางานได้เลย!!
จริงๆ แล้วหากมีแนวโน้มว่าคุณจะสอบได้คะแนนดีและสำเร็จการศึกษาตามแผนระยะเวลาที่วางไว้ คุณก็สามารถเริ่มต้นมองหางานร่วมกับโรงพยาบาลที่สนใจได้ตั้งแต่ตอนเป็นหมอฝึกหัด หรือจะมาเริ่มหางานในช่วงหลังเรียนจบแล้วก็ไม่ถือว่าช้าเกินไปค่ะ :>
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะในประเทศไหนกว่าจะได้เป็นหมอนั้นต้องใช้เวลาและมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าจะเรียนจบได้ใบประกอบวิชาชีพและต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างมาก อย่างไรก็ตามด้วยโอกาสและค่าตอบแทนที่ถือว่าสูงในสหรัฐอเมริกา ทำให้หลายคนมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าค่ะ
ใครที่กำลังศึกษาหาลู่ทาง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณนะคะ :)
ที่มา: