การที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แปลว่าเราจะต้องเจอผู้คนมากมายหลากหลายในชีวิตประจำวัน บางทีคนเจ้าอารมณ์เหล่านั้นอาจจะไม่ได้เจอกันทุกวัน แต่อาจจะเป็นพนักงานขายสินค้าที่เราไปซื้อแต่อารมณ์ไม่รับแขกตลอดเวลาก็ตาม เรามาดูกันเถอะว่าเราจะรับมือกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร
1. นิ่งไว้ก่อน
กฎข้อแรกของการรับมือคนไม่มีเหตุผลก็คือ เราต้องรักษาความสงบของจิตใจไว้ให้ได้ ยิ่งเรานิ่งเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น เวลาที่คุณรู้สึกขุ่นเคืองใครบางคนที่ทำตัวน่าหงุดหงิด ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปที่อาจจะทำให้ตัวเองต้องมานึกเสียใจในภายหลัง ให้ลองหายใจเข้าลึกๆและนับ 1-10 ช้าๆ อาจจะเป็นวิธีง่ายๆ แต่เชื่อมั้ยว่าก่อนที่จะนับถึง 10 คุณอาจจะนึกวิธีอะไรดีๆออกมาได้ แต่ถ้าคุณยังคงหงุดหงิดหลังจากนับถึง 10 ก็ต้องลองให้เวลากับตัวเองอีกหน่อย แล้วค่อยๆคิดอย่างมีเหตุผล
2. มองอีกมุม
แม้ว่าอาจจะมีใครบางคนที่ทำพฤติกรรมแย่ๆกับเรา เช่น พูดจาไม่น่ารักหรือเหวี่ยงวีน ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดพอสมควร แต่ให้คุณลองคิดและมองดูอีกมุมก่อนว่า มันมีสาเหตุอื่นที่มาจากตัวเขาเองหรือไม่ เพราะมีคนหลายคนที่มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ด้วยสาเหตุจากเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับคนที่เขาสื่อสารด้วยเลย เช่น เขาอาจจะพึ่งโดนเจ้านายกดดันมา หรือทะเลาะกับคนที่บ้าน ซึ่งนั่นหมายความว่า เขาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายโดยตรงที่จะทำตัวไร้เหตุผลใส่คุณ เมื่อรู้อย่างนี้ คุณก็น่าจะเห็นใจและสามารถให้อภัยเขาได้ ที่สำคัญที่สุด ตัวคุณเองก็สบายใจ
3. หายตัวแว้บ
คุณไม่จำเป็นที่จะต้องต่อกรกับคนที่ไม่น่ารักทุกคนเสมอไป มีคน 3 แบบ ที่เราไม่ควรจะนำมาเป็นปัญหาเลย
แบบที่ 1 : คนที่ผ่านมาเพียงชั่วคราว เช่น พนักงานขายของทางโทรศัพท์ หรือ คนที่พึ่งขับรถปาดหน้าเราไป ผ่านมาแล้วให้ผ่านไปเลย ไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องเสี่ยงกับใครก็ไม่รู้
แบบที่ 2 : คนที่มีความคิดเชิงลบอย่างเหนียวแน่น เป็นการเสียเวลาเปล่าไปกับการอธิบายหรือโน้มน้าวใจคนที่มีความคิดทางลบและวนเวียนอยู่แต่ในโลกของเขาเองตลอดเวลา ควรอยู่ห่างๆ จนกว่าเขาจะพร้อมที่จะรับฟังหรือเข้าใจ ซึ่งคงไม่ใช่ในเวลาสั้นๆ
แบบที่ 3 : คนที่เราไม่คิดว่าจำเป็นต้องมีเขาในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าจะต้องคบกัน ดังนั้นก็อยู่ห่างๆเขาจะดีกว่า แต่หากเป็นคนที่ไม่น่ารักแต่ก็ยังมีข้อดีหรือมีประโยชน์ ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม เช่น เพื่อนร่วมงานที่ทำประโยชน์บางอย่างให้กับทีม ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็คุ้มค่าพอที่จะอดทนกับเขาหรือเธอมิใช่หรือ
4. โอนความรับผิดชอบ
โดยทั่วไปแล้ว คนเจ้าอารมณ์ มักก้าวร้าว และ มักทำให้คุณรู้สึกเดือดร้อน ไม่สบายใจ พวกเขามองเห็นข้อเสียของคนอื่นได้ง่าย และมักโฟกัสไปที่ ปัญหามันแย่ยังไง แทนที่จะคิดทางแก้ปัญหา ถ้าคุณตอบโต้โดยการตั้งรับ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาเยิ่นเย้อ ดังนั้น แทนที่จะโต้เถียง หรือปล่อยให้เขาถามหรือโจมตี ให้โอนอำนาจการตัดสินใจไปที่เขา โดยการพูดในทำนองว่าให้เกียรติเขาตัดสินใจ หรือถามว่า เราควรทำยังไงกันดี พอมีแนวทางไหม ฯลฯ
5. ตอบโต้ความหยาบคาย ด้วย ความสุภาพ
บางครั้งคนเจ้าอารมณ์ จะพูดจาอย่างไม่ให้เกียรติ ซึ่งฟังแล้ว ไม่น่าคุยด้วยต่อเลย แต่ให้คุณระงับความรู้สึก และพูดตอบอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ อาจสามารถช่วยทำให้เขาได้ยั้งคิด และช่วยระงับคำพูดหรือการกระทำที่เลยเถิดของเขาได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังด้วยว่า ความสุภาพของเราต้องพูดด้วยอารมณ์ด้านบวก ถ้าคำพูดสุภาพ แต่พูดด้วยอารมณ์แรงๆ นั่นก็ไม่ถือว่าเป็นความสุภาพนะคะ สำหรับข้อนี้ อยากจะให้แง่คิดว่า คนที่สามารถตอบความหยาบคายด้วยความสุภาพได้ ก็ถือเป็นศักดิ์ศรีที่เหนือระดับกว่าค่ะ
6. ใช้อารมณ์ขันในเวลาที่เหมาะสม
เรื่องนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัว เช่น การหาจังหวะแซว หรือกระเซ้าเย้าแหย่อย่างสุภาพและน่ารัก แต่อย่างที่บอกค่ะ ต้องดูจังหวะด้วย ไม่อย่างนั้น อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าเดิม แต่หากทำได้ การใช้อารมณ์ขันอย่างเป็นธรรมชาติด้วยความจริงใจ ในเวลาที่เหมาะสม จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดหรือกำจัดพฤติกรรมร้ายๆของเหล่า”ผู้ก่ออารมณ์ร้าย” นอกจากนี้ อารมณ์ขันยังแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่สงบอย่างน่านับถือ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยังสามารถเอาไปปรับใช้กับตัวเราเองได้เช่นกันนะคะ หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ของเรา และอารมณ์ของคนอื่น แค่นี้เราก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ปวดหัวอีกแล้วค่ะ
source: eduzones