เคยสังเกตุตัวเรา เพื่อน หรือคนรอบข้างไหมว่า เราเป็นคนขาดสมาธิ จดจ่ออะไรนานๆ ไม่ได้ เบื่อง่าย วอกแวก เหม่อบ่อย ทำงานไม่เสร็จ ขี้ลืม หรือเปล่า หรือชอบหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอยไม่ได้ พูดแทรก พูดโพล่ง ใจร้อน ละก็ คุณอาจเป็นโรคสมาธิสั้นก็เป็นได้นะคะ
ลักษณะต่อไปนี้จะช่วยบ่งชี้ว่า สมาธิสั้นในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวเป็นอย่างไร
ตอนเล็กๆ มีพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ตั้งใจเรียน หงุดหงิดโมโหง่าย วอกแวก เรียนหนังสือไม่ดี ฯลฯ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง จึงทำให้อาการยังคงปรากฏอยู่ ไม่มากก็น้อย (มีจำนวนประมาณสี่สิบเปอร์เซ็น)
โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ บางคนยังคงรับประทานยาและบางคนก็ไม่ได้รับประทานยา ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ ส่วนอีกพวกอาการจะแย่มากขึ้น (มีจำนวนประมาณสามสิบเปอร์เซ็น) ถึงขั้นประพฤติผิดกฏหมายทุกรูปแบบ สามารถสร้างความรุนแรงให้สังคมได้ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นของความรุนแรงที่เกิดขึ้น
-ใจร้อน โผงผาง
-อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว มักมีเรื่องรุนแรงกับบุคคลที่ตนไม่พอใจ
-หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ ทำตามใจชอบ
-ทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
-วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการเรียนขั้นอาชีวศึกษาหรือขั้นอุดมศึกษาหรือในการทำงาน
-รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้
-มักจะทำงานหลายๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จแม้แต่ชิ้นเดียว
-ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี
-ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง
-นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อยๆหรือพูดโทรศัพท์มือถือ
-เบื่อง่าย หรือ ต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ
-ไม่มีระเบียบ ห้องหรือบ้านรกรุงรัง
เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ มักต้องการคิดเอง พูดเอง ทำเอง ไม่ต้องการให้พ่อแม่สั่งสอนเช้ายันค่ำ หรือพูดซ้ำซาก จุกจิก จู้จี้ ขี้บ่น เด็กจะรู้สึกเบื่อและรำคาญพ่อแม่เพราะต้องการแสดงตัวตนว่า โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่ต้องเข้าใจจุดนี้และ พูดให้น้อยที่สุดเป็นดีที่สุด อะไรที่ลูกไม่พูด ไม่ต้องเซ้าซึ้จ่ำจี้จ้ำไช จะต้องรู้ให้ได้ ดีที่สุดคือพูดน้อย ให้ความเข้าใจ และ เห็นอกเห็นใจในปัญหาของลูก
ช่วยหาทางออก ให้ด้วยเหตุและด้วยผล ไม่ต้องบีบบังคับ ให้ลูกเลือกการตัดสินใจด้วยตนเอง ถ้าผลจากการตัดสินใจไม่เป็นไปตามที่คาด ไม่ต้องซ้ำเติม ให้ยีนเคียงข้างลูก และ ช่วยลูกแก้ปัญหา ลูกจะรูสึกรักและซาบซึ้ง เข็ดหลาบในวิธีแก้ปัญหาของตน
วิธีจัดการอาการสมาธิสั้นในวัยรุ่น
1. ฝึกการสนใจในสิ่งไดสิ่งหนึ่งโดยการกำหนดระยะเวลา ควรจัดให้มี “ตารางเวลา” และ มีนาฬิกาที่ลูกจะเห็นชัด อะไรที่ทำไม่ได้ดี ไม่ต้องตำหนิ ให้ช่วยทำ
2.ใช้ดนตรีบำบัด
3.ฝึกคิด จินตนาการ
4.การนั่งสมาธิ อาจจะใช้เวลาแค่สั้นๆ 3- 5 นาที ก่อนนอน ฝึกกำหนดลมหายใจ ก็จะช่วยให้เรานิ่งขึ้น
5.การเก็บสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวและเอกสารสำคัญ ควรจัดให้มีตู้ ที่มีลิ้นชักคู่ เขียนป้ายให้เห็นชัดว่า ลิ้นชักใดใส่อะไร
6.ปัญหาการเรียน เด็กวัยรุ่นสมาธิสั้น มิได้มีปัญหาขาดความสามารถ แต่มีปัญหาการทำงานทางด้านการเรียน ทำได้ไม่เสร็จ ไม่รอบคอบ จึงทำให้ไม่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นพ่อ/แม่และครูจึงต้องช่วยกัน เพื่อให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและหาวิธีมอบหมายงานให้เหมาะสมกับตัวเด็ก
7.เด็กมีปัญหาความสนใจ ไม่สามารถกลั่นกรองสิ่งเร้าได้ จึงทำให้แยกไม่ออกว่า ควรสนใจอะไร ควรทำอะไร และควรทำอย่างไร งานจึงจะเสร็จ จึงต้องหาวิธีการทำให้สนใจในสิ่งที่กำลังทำ
8.เด็กมีปัญหาความจำ การเก็บข้อมูล ประมวลและแปลข้อมูลมีปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ได้เห็น ได้ยิน ได้อ่านหรือได้เขียนอะไร จะจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือ ประมวลหรือจับประเด็นได้ลำบาก นั่นก็คือปัญหาการคิดรวบยอด ฉะนั้นจึงต้องช่วย โดยการเพิ่มเวลาทำงานหรือลดหย่อนการทำงาน โดยการแบ่งงานเป็นตอนสั้น ๆ หรือขีดเส้นใต้ตอนที่สำคัญ จึงจะประสบความสำเร็จ
9.เด็กมีปัญหาการทำข้อสอบ เพราะมีข้อบกพร่องในการ ดึงข้อมูลหรือดึงได้ช้า ไม่ใช่ไม่รู้ จึงทำให้ผลการสอบไม่ดี เกือบได้เกือบตกเสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นในการเพิ่มเวลาสอบ ต้องขอความช่วยเหลือจากครู
10.ปัญหาการขาดความภาคภูมิใจในตนเองเพราะผจญกับการถูกผู้ใกล้ชิดรอบตัว ตี ดุ ด่า ว่ากล่าวและตำหนิ ติเตียน เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ตราหน้ากันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ทุกวันจันทร์จนถึงวันอาทิตย์ ทุกวัน ทุกเดือนและทุกปี ผู้ใกล้ชิดรอบตัวจึง ต้องปรับพฤติกรรมตนเอง มิให้โกรธและโมโหหรือรำคาญเด็ก ต้องให้กำลังใจและมี ทัศนคติเชิงบวกกับเด็ก ค้นหาความสามารถด้านอื่นของเด็กและให้ความสนับสนุน ให้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ ขอให้จำไว้ว่า “ช่วยเหลือมิใช่แก้ไข้”
11.ปัญหาการคบเพื่อน เด็กวัยรุ่นทั่วไป มักติดเพื่อนและเห็นความสำคัญของเพื่อน แต่เด็กสมาธิสั้นจะรู้สึก “แปลกแยก” เพราะไม่มึใครอยากคบ แม้แต่พ่อแม่ของเพื่อนก็จะพากันห้ามปรามลูกของตน ไม่ให้คบ แต่ละคนล้วนแต่แสดงอาการ “รังเกียจและดูถูกเหยียดหยาม” เป็นประจำ จึงมักจะหันไปคบเพื่อนที่มีปัญหา พากันทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ เช่น เสพยา ทะเลาะวิวาท ฯลฯ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องช่วยเหลือลูกดังต่อไปนี้
– ช่วยสร้างเพื่อนให้ลูก
– ชักชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ร่วมกิจกรรมด้วยกันเป็นประจำ
– ไม่ตำหนิเพื่อนให้ลูกฟัง
– สอนทักษะการแยกแยะคน จากการดูพฤติกรรมโดยยึดหลักธรรมะตามข้างต้นเป็นประจำ จนลูกเคยชิน
– ไม่ตำหนิบุคคลใดหรือแม้แต่ตัวลูก ควรพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น
วิธีเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกคนนะคะ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเหมาะสมกับวิธีแบบไหน เพื่อนๆลองสังเกตตัวเองดูนะคะ เพราะสมัยนี้การที่เราติดเกม และสมาร์ทโฟน ทำให้เราสมาธิสั้นกันเยอะเลยค่ะ
source: mThai