อย่างที่เราทราบกันดีว่าแต่ละประเทศมีข้อกำหนดสำหรับการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางไปเรียนต่อจำนวนมากในแต่ละปี
วันนี้เราจึงอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “VISA F-1” วีซ่าสำหรับนักเรียนต่างชาติในสหรัฐอเมริกาพร้อมเจาะลึกข้อกำหนดที่จะช่วยให้คุณสามารถดำเนินเรื่องต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ
ก่อนอื่น VISA F-1 คืออะไร??
VISA F-1 เป็นวีซ่านักเรียนสำหรับการเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอุดมศึกษา การเรียนภาษา หรือการเรียนสายวิชาชีพต่างๆ โดยหลักสูตรที่เลือกลงทะเบียนจะต้องมีระยะเวลามากกว่า 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไปค่ะ
สำหรับการทำงานภายใต้วีซ่า F-1 จะทำได้เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนในหลักสูตรอุดมศึกษาเท่านั้น (ปริญญาตรี โท หรือเอก) และจะทำได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สำหรับใครที่ได้รับการจ้างงานจากมหาวิทยาลัย ก็จะได้รับเอกสารอนุญาตทำงานที่ออกโดยสถาบันนั้นๆ ค่ะ
วีซ่านี้จะใช้สำหรับผู้ที่สมัครเข้ามาเรียนต่อด้วยทุนส่วนตัว ไม่ได้รับทุนจากองค์กรอื่นใด ซึ่งจะแตกต่างจากวีซ่า J-1 และ M-1 ค่ะ
F-1 / J-1 / M-1 แตกต่างกันอย่างไร?
สามารถสรุปข้อแตกต่างของวีซ่าทั้ง 3 ชนิดนี้ได้ง่ายๆ คือ
F-1 : วีซ่าสำหรับนักเรียนทุนส่วนตัว ใช้ได้ทั้งคอร์สเรียนภาษาระยะสั้น ไปจนถึงหลักสูตรระยะยาว ไม่มีข้อผูกมัดว่าเรียนจบแล้วต้องกลับบ้านทันที
J-1 : วีซ่าสำหรับนักเรียนทุนที่ได้รับทุนจากองค์กรใดๆ ก็ตาม มีข้อกำหนดให้กลับประเทศของตัวเองหลังเสร็จสิ้นโครงการหรือเรียนจบ (เช่น Work and Travel ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวีซ่านี้ค่ะ)
M-1 : วีซ่าสำหรับผู้ฝึกอบรมด้านวิชาชีพหรือทักษะเฉพาะที่นอกเหนือจากด้านวิชาการ
การขอวีซ่า F-1
ก่อนที่จะขอวีซ่านี้ได้ ผู้สมัครจะต้องได้รับการตอบรับเข้าเรียนจากสถาบันที่สมัครเรียนไว้แล้วก่อน จากนั้นทางสถาบันจะทำการออกจดหมายรับรองหรือที่เรียกว่า I20 เพื่อให้นำไปยื่นตอนขอวีซ่า
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่เราสมัครจะต้องมั่นใจว่าได้รับการรับรองจาก U.S. Citizenship and Naturalization Service จึงจะถือว่ามีคุณสมบัติในการขอวีซ่านะคะ
คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการขอวีซ่า F-1
– อายุ 20 ปีขึ้นไป (กรณีอายุน้อยกว่า 20 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง)
– ได้รับการตอบรับจากสถาบันที่สมัครเรียนและได้รับใบ I20 เรียบร้อยแล้ว
– มีทุนทรัพย์เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ลงทะเบียนเรียน
– มีพื้นฐานความรู้ เป้าหมาย และเหตุผลอื่นๆ ที่สอดคล้องกับการเดินทางไปเรียนต่อในหลักสูตรที่ได้เลือกไว้
ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า F-1
– ค่าธรรมเนียมขอสถานะนักศึกษาในสหรัฐอเมริกา 160 ดอลลาร์ (ประมาณ 5,200 บาท)
– ค่าดำเนินการ 200 ดอลลาร์ (ประมาณ 6,500 บาท)
** ทั้งสองอย่างนี้เป็นค่าธรรมเนียมที่ไม่สามารถขอคืนเงินได้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายในแต่ละปี
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอวีซ่า F-1
– หนังสือเดินทาง (Passport) ที่มีอายุเหลือมากกว่าเวลาที่ต้องการในการเรียนต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 6 เดือน
เช่น ต้องการเรียนต่อในหลักสูตร 6 เดือน ต้องมีอาุยุหนังสือเดินทางเหลืออย่างน้อย 1 ปี
– ใบคำร้องขอวีซ่าชั่วคราว (DS-160)
– รูปถ่ายขนาด 2×2 นิ้วที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน (พื้นหลังสีขาว หน้าตรง ไม่สวมแว่นตา และควรเปิดหน้า)
– ใบเสร็จชำระเงินค่าธรรมเนียมวีซ่า
– แบบฟอร์ม I20 ที่มีลายเซ็นรับรองจากสถาบันที่ได้รับการตอบรับ
– ใบนัดสัมภาษณ์
– เอกสารทางราชการอื่นๆ เช่น หนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง (กรณีอายุน้อยกว่า 20 ปี) ใบเปลี่ยนชื่อ บัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้าน
– เอกสารทางการเงินย้อนหลัง 6 เดือน
– เอกสารรับรองการทำงานหรือสถานะทางการศึกษา เช่นใบรับรองวุฒิการศึกษา หรือหนังสือรับรองการทำงาน
ขั้นตอนการยื่นขอวีซ่า:
– กรอกแบบฟอร์ม DS-160 โดยเลือกสถานที่ยื่นคำร้องวีซ่า พร้อมกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย
**สำหรับประเทศไทยนั้นจะมีให้เลือก 2 ที่คือ กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่
– หลังจากส่งข้อมูลแล้วจะได้รับ Application ID ซึ่งต้องบันทึกไว้เพราะจะใช้ในการยืนยันตัวตน สำหรับหน้ากรอกข้อมูล เนื่องจากทั้งหมดดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ จึงต้องตรวจสอบให้รัดกุมเนื่องจากหากกดข้ามไปแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้
– หลังจากกรอกข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อย คุณต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนจึงจะได้รับนัดหมายสัมภาษณ์
– ไปสัมภาษณ์ตามวันที่และเวลาที่ได้รับนัดหมาย โดยเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านการตอบคำถามและอื่นๆ
** โปรดทราบว่าหากไม่ผ่านสัมภาษณ์คุณจะต้องเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ตั้งแต่เริ่ม และจะไม่ได้รับค่าธรรมเนียมคืน รวมทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียมใหม่ **
หลังเรียนจบสามารถทำงานต่อได้ไหม?
การทำงานหลังเรียนจบตามหลักสูตรจะสามารถทำได้ในกรณีที่คุณทำการยื่นขอต่อวีซ่า โดยจะมีตัวเลือก 3 รูปแบบคือ
1. ยื่นขอ Optional Practical Training (OPT) : สามารถอยู่ทำงานได้อีก 12 เดือน โดยจะต้องขอล่วงหน้า 90 วันก่อนเรียนนจบ หรือไม่เกิน 60 วันหลังเรียนจบ ไม่จำเป็นต้องมีงานรองรับ (สมัครก่อน หางานทีหลังได้)
2. ยื่นขอ Curricular Practical Training (CPT) : อันนี้เป็นกรณีทีุ่คุณได้รับการว่าจ้างจากสถาบันที่คุณศึกษา หากระยะเวลาของ CPT น้อยกว่า 12 เดือน จะสามารถยื่นขอ OPT หลังจากนั้นได้
3. Employment with an International Organization : วีซ่าสำหรับผู้ที่ได้รับการว่าจ้างจากองค์กรระดับชาติ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อควรรู้ที่ใครอยากเรียนต่อสหรัฐอเมริกาควรศึกษาไว้
จริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่างที่ควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากมีโอกาส ครั้งหน้าเราจะหาข้อมูลมาให้ได้อ่านกันนะคะ :>
ที่มา: