หลังจากที่ Scholarship.in.th ได้ประชาสัมพันธ์ ทุนเต็มจำนวนร่วมเวิร์คช้อป “การรู้เท่าทันสื่อ” 6 วัน ณ ประเทศเมียนมา (อ่านบทความย้อนหลังได้ที่นี่) ไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2561 วันนี้เราก็ประสบการณ์ที่น่าสนใจส่งตรงจากผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปมาฝากกัน
โดยเธอคนนี้เป็น 1 ใน 5 คนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเวิร์คชอปร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศติมอร์-เลสเต (รวม 11 ประเทศ) อีก 51 คน จะมีอะไรน่าสนใจบ้างนั้น เราไปติดตามกันเลย!
“เดียร์” นิรัชพร ด้วงมูล เป็นหนึ่งในคนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม “YSEALI Media Literacy Regional Workshop” ภายใต้หัวข้อ “การรู้เท่าทันสื่อ” ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม 2562
โดยกิจกรรมเวิร์คชอปในครั้งนี้ถือส่วนหนึ่งของ Young Southeast Asian Leadership Initiative (YSEALI) และได้รับการสนับสนุนทุนจาก U.S. Department of State
กิจกรรมวันแรก
“ในวันแรกของโครงการนั้นยังไม่มีกิจกรรมอะไรมากมายค่ะ เพราะเป็นวันเดินทางจากประเทศไทยไปยังกรุงย่างกุ้ง เดียร์เดินทางไปพร้อมพี่ที่ได้รับคัดเลือกอีก 1 คน เมื่อเดินทางถึงเมียนมา ทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการก็ได้จัดให้เราพักที่โรงแรม Park Royal หลังจากเช็คอินเรียบร้อยแล้วก็รับเอกสาร ป้ายชื่อ และพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมในวันถัดไปค่ะ”
วันที่สอง: ปฐมนิเทศ-เวิร์คชอป ณ American Center กรุงย่างกุ้ง
“หลังจากทานอาหารเช้าในวันที่สอง ทางเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการก็ได้พาเราไปพบกับมัคคุเทศก์เพื่อเดินชมรอบๆ เมืองค่ะ ในช่วงนี้เราได้มีโอกาสเดินชมบรรยากาศรอบๆ เมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนท้องถิ่น ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองเลยก็ว่าได้ จำได้ว่าทางมัคคุเทศก์พาเราเดินทัวร์หลายจุดมาก ไม่ว่าจะเป็นแกลเลอรีแสดงภาพถ่ายในประวัติศาสตร์ ตึกที่เคยเป็นสำนักข่าวในอดีต สวน Maha Bandula ซึ่งเป็นสวนสาธารณะตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง และอีกหลายแห่งที่ชวนให้เราตื่นเต้นไม่รู้จบ
เนื่องจากเวิร์คชอปนี้เป็นเวิร์คชอปเกี่ยวกับสายงานด้านสื่อ ทางผู้จัดจึงพาเราไปเยือน Frontier Myanmar สำนักนิตยสารยุคใหม่ที่นำเสนอข่าว เรื่องราวของธุรกิจ รวมทั้งเหตุการณ์ปัจจุบันในเมียนมา
ต่อมาเราก็ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดเวิร์คชอปค่ะ นั่นก็คือ American Center
กิจกรรมที่นี่จะเริ่มต้นจากการปฐมนิเทศ ต่อมาก็ให้แต่ละคนให้คำจำกัดความคำว่า “Media Literacy” และพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกันในกลุ่ม จากนั้นก็รับฟังวิทยากรในหัวข้อ “Media Literacy in Southeast Asia, Challenges and the Road Ahead” ปิดท้ายด้วยงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 1 ปี ของการก่อตั้ง American Center ที่ย่างกุ้งค่ะ”
กิจกรรมเวิร์คชอปสุดเข้มข้น (วันที่สาม)
“ในวันที่สามเราก็มาเริ่มกิจกรรมกันที่ American Center ค่ะ เป็นกิจกรรม Never Too Young to Lead ซึ่งเป็นกิจกรรมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นผู้นำระหว่างเพื่อนๆในกลุ่ม จากนั้นก็จะให้ผู้ที่เข้าร่วมแยกย้ายกันไปไปเข้าฟังบรรยายหัวข้อที่ตนเองสนใจ
โดยแต่ละช่วงจะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อในสี่ห้องด้วยกัน ในส่วนนี้เดียร์ได้เลือกไปฟังหัวข้อ “Ethics & Photojournalism” ค่ะ เป็นหัวข้อเกี่ยวกับจริยธรรมการถ่ายภาพเพื่อนำไปประกอบข่าวหรือคอนเทนต์ ได้รับทั้งสาระความรู้ เทคนิค และได้ชมผลงานสวยๆของวิทยากรไปพร้อมๆกันค่ะ
ช่วงต่อมาก็เป็นการเข้าฟังวิทยากรในห้องใหญ่ ภายใต้หัวข้อ “Social Media and Civil and Uncivil Society” และในช่วงบ่ายก็มีการแยกไปเข้าฟังบรรยายในหัวข้อเดี่ยวต่อไป ช่วงนี้เดียร์เลือกฟังในหัวข้อ “Role of Media in Changing Attitutes Towards Minorities”
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมเวิร์คชอป เดียร์ก็ได้มีโอกาสไปชมพระมหาเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงย่างกุ้งที่ไม่ควรพลาดที่จะไปเยี่ยมชมค่ะ บอกเลยว่ายิ่งใหญ่ งดงามตระการตาชวนว้าวเอามากๆ เลยล่ะค่ะ”
เวิร์คชอปวันที่สี่ + ประสบการณ์กินแหลก
วันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่มีการเวิร์คชอปกันอย่างเข้มข้นค่ะ โดนเริ่มต้นจากการเลือกเข้าฟังบรรยายในห้องต่างๆ ช่วงนี้เดียร์เลือกเข้าฟังหัวข้อ “Digital Literacy in the Post-Truth Era ก่อนที่จะเข้าห้องประชุมร่วมรับฟังวิทยากรหัวข้อ “Reporting on Conflict และ “Demystifying Reporting-Reporting on Conflict and Sensitive Issues หลังจากนั้นก็แยกเข้าฟังบรรยายในหัวข้อ “Social Media for Social Change”
มาถึงประสบการณ์การกินแหลกที่ได้จั่วหัวกันมาบ้าง เพราะในวันนี้เดียร์ได้มีโอกาสไปลองอาหารพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ “คะฉิ่น (Kachin)” หลากหลายเมนู แต่เก็บภาพมาฝากได้ไม่กี่เมนูเพราะมัวแต่ตื่นเต้น ชิมไปชิมมาหมดจานไปแล้ว ฮ่าๆ แต่ละเมนูนั้นจะมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไปค่ะ ส่วนเมนูที่จัดจ้านนั้นก็จะออกแนวคล้ายๆ อาหารอีสานบ้านเรา แอบกระซิบว่าใครไปเยือนเมียนมาต้องไปลองให้ได้เลยน้า”
Closing Dinner – Entertainment
ในช่วงกลางวันก่อนจะปิดกิจกรรมในวันนี้เป็นการเข้าฟังวิทยากรเล็กน้อย แถมท้ายด้วยกิจกรรมกลุ่ม หลังจากปิดกิจกรรมเดียร์ได้มีโอกาสนั่งแท๊กซี่ไปซื้อของฝากที่ตลาด Bogyoke บอกเลยว่าตื่นเต้นและแอบกลัว เพราะแท๊กซี่ที่นี่จุคนได้ถึง 7 คน เรียกได้ว่าแน่นมากๆ
ในช่วงเย็นก็จะเป็นการ Pitching เพื่อนำเสนอโปรเจคที่ได้วางแผนไว้ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้ทุนสนับสนุนโปรเจคจากโครงการ
หลังจากนั้นก็เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ โดยในช่วงนี้ก็จะมีการแสดงของแต่ละประเทศ เดียร์ได้มีโอกาสแสดงโชว์พร้อมกับเพื่อนๆ ชาวไทย ลาว บรูไน และสิงคโปร์ เรียกได้ว่าเป็นงานเลี้ยงอำลาที่สนุกและเรียกเสียงปรบมือได้แบบคาดไม่ถึงเลยล่ะค่ะ
ในวันสุดท้ายก็เป็นวันที่ทุกคนแยกย้ายเดินทางกลับค่ะ… สิ่งที่เดียร์ได้กลับมานอกจากความรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) จากวิทยากรในหลากหลายสาขา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ต่างชาติ ในประเด็นมุมมองเกี่ยวกับสื่อ และสถานการณ์สื่อในประเทศแถบอาเซียนและติมอร์-เลสเต รวมทั้งการฝึกฝนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ
นั่นก็คือมิตรภาพ และการก้าวข้ามคอมฟอร์ทโซนของตัวเองค่ะ เพราะก่อนที่จะเดินทางมาเรากังวลหลายมาก แต่พอถึงเวลาแล้วเราก็สามารถผ่านมันมาได้พร้อมกับประสบการณ์ที่ได้เก็บเกี่ยวมาระหว่างทาง
“สุดท้ายนี้อยากฝากถึงคนที่มีความฝันว่า ใครที่อยากลองท้าทายความสามารถตัวเอง อย่าลืมหากิจกรรมที่จะพาเราออกจากคอมฟอร์ทโซน เพื่อที่จะได้สร้างประสบการณ์ให้เราได้ท้าทายขีดความสามารถของตนเองกันนะคะ รับรองว่าคุณจะได้พบเจอกับตัวตนใหม่ ๆ ของตนเองที่แตกต่างไปจากเดิมแน่นอน เดียร์เอาใจช่วยนะคะ”