แต่ละปี ออสเตรเลียสามารถดึงดูดนักศึกษาหลายพันคนจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางมาเพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา นับเป็นหนึ่งในปลายทางยอดนิยมสำหรับการเรียนต่อต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เกิดการคุ้มค่ามากที่สุด ตามปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่ออสเตรเลียจะเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 – 45,000 ดอลลร์ออสเตรเลียต่อปี (ประมาณ 467,700 – 1 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าครองชีพที่จะแตกต่างกันไปตามแต่เมืองที่เลือกอยู่
โชคดีที่สำหรับนักศึกษา มีหลายวิธีที่จะช่วยให้คุณสามารถเซฟค่าใช้จ่าย รวมถึงค้นหาตัวเลือกที่เหมาะกับเงื่อนไขของคุณได้
วันนี้เราจึงมีวิธีดีๆ แบบ Step by step มาแชร์สำหรับคนที่กำลังวางแผนสมัครเรียน ณ ประเทศออสเตรเลียกันค่ะ
1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดการศึกษาต่อในออสเตรเลีย
ออสเตรเลียมีข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวดเกี่ยวกับการรับสมัครเพื่อเรียนต่อสำหรับนักศึกษาต่างชาติ โดยคุณจะต้องมีคุณสมบัติคร่าวๆ ดังนี้
– ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายเทียบเท่าใบรับรอง Year 12 ของออสเตรเลีย
– หากมาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ จะต้องมีคะแนนทักษะภาษาอังกฤษเพื่อยืนยันระดับภาษาของคุณ
** โดยมากคะแนนที่ได้รับการยอมรับและยอดนิยมคือ ELTS หรือ TOEFL โดยสัดส่วนคะแนนจะอยู่ที่ประมาณนี้
IELTS: overall score of 6.0, no band less than 6.0
TOEFL: overall score of 67, section scores no less than:
Listening: 12
Speaking: 18
Reading: 15
Writing: 21
Tips: เพื่อเซฟค่าใช้จ่าย เนื่องจากการสอบวัดระดับเหล่านี้ค่อนข้างมีราคาสูง ดังนั้นหากคุณทำได้ดีตั้งแต่ครั้งแรกก็จะประหยัดการจ่ายค่าธรรมเนียมซ้ำๆ ได้เยอะ
2. เลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่เหมาะกับสิ่งที่คุณสนใจ
ไม่จำเป็นต้องเป็นมหาวิทยาลัยดังเท่านั้น สถาบันส่วนใหญ่ของออสเตรเลียล้วนแต่ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน การเลือกมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าก็จะมีค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่า
Tips: หลักสูตรด้านกฎหมายและการแพทย์จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการเรียนในสาขาศิลปะ มนุษยศาสตร์ และการพยาบาล เนื่องจากต้องมีค่าธรรมเนียมด้านอุปกรณ์และอื่นๆ ที่มากกว่า
3. หาทุนการศึกษา หรือความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ
แต่ละสถาบันจะมีทุนช่วยเหลือที่แตกต่างกันไปตามเกณฑ์และคุณสมบัติ บางทุนครอบคลุมแค่ค่าเล่าเรียน ในขณะที่บางทุนอาจให้การสนับสนุนแบบเต็มจำนวน
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางสถาบัน ความช่วยเหลืออาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการเงิน แต่เป็นการสนับสนุนที่พัก อุปกรณ์การศึกษา หรือการเสนองานในฐานะผู้ช่วยวิจัยซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้คุณสามารถเซฟค่าใช้จ่ายได้
4. ค้นหากำหนดการรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย
ศึกษาข้อมูลมาในระดับหนึ่งแล้ว และมีเป้าหมายในใจแล้ว ทีนี้ถึงเวลาดูตารางการรับสมัครเพื่อให้รู้ว่าคุณมีเวลาเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหนในการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องเอกสาร
โดยส่วนใหญ่สิ่งที่คุณจำเป็นต้องเตรียมคือ
– หลักฐานคะแนนภาษาอังกฤษ
– ใบรับรองผลการเรียน หรือวุฒิการศึกษา
– จดหมายแนะนำ
– หากมีประวัติกิจกรรมด้านวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะที่คุณจะสมัคร ก็สามารถยื่นแนบร่วมได้
5. สมัครเรียนโลด!
นอกจากการสมัครเรียนแล้ว อย่าลืมตรวจสอบการสมัครทุนการศึกษาซึ่งบางทุนก็สมัครให้อัตโนมัตหลังคุณได้รับการตอบรับแล้ว แต่บางทุนต้องสมัครแยก ในส่วนนี้อย่าลืมดูดีๆ นะคะ
6. ขอวีซ่า
หลังได้รับการตอบรับแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่คุณจะต้องดำเนินการคือการยื่นขอวีซ่า
สำหรับวีซ่านักเรียนจะได้รับอนุญาตให้อาศัย ทำงาน และเรียนได้สูงสุด 5 ปี โดยทั้งหมดนี้อยู่ในข้อกำหนดของหลักสูตรที่คุณเลือกสมัคร
ตัวอย่างเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอวีซ่า
– จดหมายตอบรับการสมัครเรียน
– การยืนยันการลงทะเบียน Confirmation of Enrolment (CoE)
– หลักฐานคะแนนภาษาอังกฤษ
– หลักฐานตามข้อกำหนดด้านสุขภาพและประกันสุขภาพ
– หลักฐานด้านการเงิน
7. เตรียมแผนการเดินทาง
หลังจากสมัครเรียนเรียบร้อย เราขอแนะนำให้คุณศึกษาเมืองและสถาบันที่คุณจะเดินทางไปเรียนให้ได้มากที่สุด
เหตุผลก็เพราะนักศึกษาต่างชาติสามารถทำงานได้ตามกำหนดชั่วโมงงาน และสามารถทำต่อไปได้ในระยะเวลาหนึ่งหลังเรียนจบ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณมีรายได้ขณะที่เรียนอยู่
นอกจากนี้ แหล่งซื้อของตามร้านค้าท้องถิ่นยังมีราคาถูกกว่าห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ การสำรวจเมืองจะช่วยให้คุณได้ประหยัดเงิน ทั้งยังได้เรียนรู้สกิลใหม่ๆ อีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการวางแผนเพื่อการผจญภัยสำหรับมือใหม่ที่จะไปเรียนต่อ บอกเลยว่ามีเรื่องอีกมากมายให้ต้องเตรียมการ ดังนั้นอย่างน้อยๆ คุณควรมีเวลาประมาณ 1 ปีเพื่อเตรียมวางแผนและความพร้อม
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเริ่มต้นไล่ตามความฝันได้ง่ายขึ้นนะคะ :>
ที่มา: studyinternational