การมีประจำเดือนคือเรื่องธรรมดาสามัญที่ผู้หญิงในโลกนี้ล้วนต้องเผชิญในทุกๆ เดือน แต่ดูเหมือนว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งในหลายพื้นที่มีความเชื่อและปฏิบัติกันมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและยอมรับในความเป็นธรรมชาติของผู้หญิงได้ ทว่าในบางพื้นที่กลับไม่เป็นเช่นนั้น หญิงสาวยังคงถูกลิดรอนสิทธิ เลือกปฏิบัติ จนนำไปสู่ความตาย
วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับประเพณี Chhaupadi ซึ่งเป็นประเพณีสำหรับหญิงสาวท้องถิ่นในระหว่างที่มีรอบเดือน ที่อาศัยอยู่ในเนปาลตะวันตก
Chhaupadi เป็นประเพณีที่กระทำกันสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนในประเทศเนปาล ซึ่งพวกเธอจะต้องไปอาศัยอยู่ในโรงวัว หรือสถานที่แยกต่างหากที่ไม่ใช่บ้าน (หรือเรียกอีกอย่างว่า chauu goth) โดยต้องอยู่ตามลำพัง เป็นเวลา 13 วันในช่วงแรกของการมีประจำเดือน และจากนั้นก็เป็นเวลา 5-7 วันตลอดชีวิตในช่วงมีประจำเดือน
ชาวเนปาลเชื่อกันว่าประเพณี chhaupadi pratha ต้องปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ เพราะเป็นความเชื่อของศาสนาฮินดู พวกเขาเชื่อว่าผู้หญิงในช่วงที่มีประจำเดือนคือผู้ที่มีมลทิน สกปรก จึงไม่สามารถหยิบจับทำงานประจำวันอะไรได้ ไม่ว่าจะเก็บผลไม้ หรือจับต้องข้าวของ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามกฎพระเจ้าจะพิโรธและสาปแช่งครอบครัวนั้น หากคราใดที่คิดจะแหกกฎผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะตะโดนด่าทอด้วยความสั่นเทิ้ม
เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น เช่น งูเข้าใกล้สถานที่พักสำหรับหญิงที่เป็นประจำเดือน หรือการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มักจะโทษในเรื่องของวินัยทางศาสนาไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาปฏิบัติกัน
เมื่อหญิงสาวต้องอาศัยอยู่ในโรงวัวหรือตามพื้นที่ที่จัดไว้ก็จะได้รับเพียงเสื่อบางๆ หรือพรมที่ไม่หนาอะไรเลย เหตุผลที่ไม่ให้ผ้าห่มหรือผ้าปูที่นอนก็เพราะว่าครอบครัวจะไม่สามารถใช้สิ่งเหล่านี้ได้อีก
ซึ่งหมู่บ้านท่ามกลางขุนเขาเช่นนี้ย่อมหนาวเหน็บในฤดูหนาวอย่างแน่นอน
และที่หมู่บ้าน Palatie ในเนปาลตะวันตก เด็กสาวต้องเสียชีวิตด้วยประเพณีนี้ และเมื่อมีผู้หญิงในหมู่บ้านมาพบเข้าจึงเกิดการชุมนุมครั้งใหญ่และทำลาย chhau goth ที่ซึ่งเด็กสาวเสียชีวิต เป็นเครื่องแสดงว่าประเพณีควรหยุดเสียที
.
ยากที่จะเชื่อเหมือนกันว่าศตวรรษที่ 21 แล้วประเพณีแปลกๆ เช่นนี้ก็ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อที่ขึ้นอยู่กับความกลัวและความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิที่มีแต่ผลร้าย
ที่มา medium.com , Facebook