ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณเอิร์ธ เสฎฐวุฒ กงเต้น หนึ่งในนักเรียนทุนปีล่าสุดของ Chevening Scholarships 2024
บอกเลยค่ะว่าการเตรียมตัว “อย่างดี” และ “ถูกทาง” มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมากจริงๆ
โดยเฉพาะในส่วนของการเขียน Essay ซึ่งถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่หลายคนพอได้ยินแล้วถึงกับชะงัก ไม่ใช่ว่าเขียนไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไรดี??
วันนี้เราจึงอยากจะมาแชร์เทคนิคที่คุณเอิร์ธใช้ในการเขียน Essay เมื่อตอนสมัครทุน Chevening จนประสบความสำเร็จให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ :D
-
รู้เขา รู้เรา
เอิร์ธเล่าว่าตัวเองโชคดีที่รู้จักทุนนี้ค่อนข้างเร็วทำให้มีเวลาในการเตรียมตัวค่อนข้างมาก และมีโอกาสได้ปรึกษารุ่นพี่ที่เคยได้ทุนมาก่อน ทำให้พอจะนึกภาพกว้างๆ ได้ว่าต้องเตรียมตัวเพื่อเขียน Essay อย่างไรบ้าง
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการเตรียมตัวคือมีข้อมูลให้เยอะที่สุด เพราะมันจะช่วยให้เราวางแนวทางได้ชัดเจนที่สุด
-
Essay ของทุน Chevening เป็นอย่างไร?
Essay ที่จะใช้ในการสมัครทุนนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ข้อหลักซึ่งแทบจะเป็นแบบเดิมและคำถามเดิมในทุกปี มีข้อกำหนดให้เขียนด้วยคำระหว่าง 100 – 500 คำ ในหัวข้อดังนี้
• ความเป็นผู้นำและแรงจูงใจ (Leadership and Influence)
• การสร้างและการใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ (Networking)
• ทำไมถึงอยากเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร (Study in the U.K.)
• แผนหลังจากเรียนจบ (Career Plan)
-
Essay และแนวทางการเตรียมตัวฉบับ “เอิร์ธ”
แรกเริ่มเอิร์ธจะใช้วิธีรวบรวมกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่เคยทำมาไว้ในลิสต์ให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งข้อนี้การเป็นเด็กกิจกรรมจะทำให้ค่อนข้างได้เปรียบ
หลังจากที่รวบรวมข้อมูลมาได้แล้ว เขาจะใช้วิธีจัดหมวดหมู่ นำเรื่องของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหัวข้อมาแบ่งประเภท เพื่อแยกใจความสำคัญให้ชัดเจน
ขั้นตอนสุดท้ายก่อนเขียนคือ “การคัด” เฉพาะเรื่องที่โดดเด่นและเกี่ยวข้องจริงๆ เพื่อนำเสนอว่าประสบการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับแผนการเรียนต่อที่เราวางเอาไว้
-
เทคนิคการเขียน Essay ได้อย่างมั่นใจ
หลังจากที่มีวัตถุดิบในการเขียนแล้ว เอิร์ธจะเน้นไปที่การอธิบายให้เห็นภาพว่าประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เลือกมานั้นเกี่ยวข้องกับคณะที่อยากเรียนอย่างไร
โดยมีการปรับใช้หลักการ STAR (Situation – Task – Action – Result) มาใช้ช่วยในการเขียนเพื่อช่วยไม่ให้หลุดใจความสำคัญ และทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัด ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน
สิ่งสำคัญเลยคือการกำหนด Topic sentence และแนวทางของแต่ละหัวข้อให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างชัดเจนเลยว่าเราต้องการสื่ออะไรได้อย่างกระชับและตรงประเด็น
ดังนั้นก่อนจะเริ่มเขียนสักหนึ่งพารากราฟ เราอาจต้องมี Keyword กำกับไว้ว่าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เกี่ยวกับอะไร เพื่อไม่ให้หลงประเด็นแล้วค่อยเอา STAR มาใช้ร่วมเพื่อให้เขียนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
-
บทเรียนจากความผิดหวัง
“ไม่มีใครที่สามารถเขียนรอบเดียวแล้วสมบูรณ์ไม่มีการแก้ไขใดๆ เพิ่มเติมเลย (อาจจะมีก็ได้ แต่ไม่ใช่ผม) ยิ่งเราเริ่มเตรียมเร็ว ดราฟต์เร็ว ก็จะยิ่งมีเวลามากขึ้นในการตรวจทาน เช็กความเรียบร้อย และให้คนอื่นช่วยรีวิวได้ด้วย“
หลังจากที่พลาดทุนในปีแรกที่สมัคร เอิร์ธได้นำเอา Essay ของตัวเองมาวิเคราะห์อีกครั้งว่าได้พลาดในจุดไหนไป พร้อมกับศึกษาแนวทางจากอดีตนักเรียนทุนคนอื่นๆ ด้วย วิธีนี้ช่วยให้เขาเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และเข้าใจมากขึ้นว่าพวกเขาต้องการ “คนแบบไหน” ในการรับทุน
-
อย่ารอเวลา
ยิ่งเตรียมตัวเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีข้อได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุนเปิดรับสมัครก่อนถึงจะเริ่มดราฟต์ Essay แต่เราสามารถเริ่มเขียนได้เลยก่อนทุนเปิดรับสมัครเพื่อให้มีเวลาแก้ไขให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะสำหรับใครที่ทำงานไปด้วย หรือเรียนไปด้วยแบบเอิร์ธ
Tips : อย่ารอจนวันสุดท้าย แต่ควรส่งก่อนวันปิดรับสมัครสัก 3 – 4 วัน เพราะระบบมักจะมีปัญหาและขัดข้องในช่วงวันท้ายๆ ดังนั้น ต้องวางแผนและตั้งไทม์ไลน์ของตัวเองให้ดี
-
คำแนะนำดีๆ ที่อยากส่งต่อ
“Break down your goals into smaller steps.”
อย่ามองแค่เป้าหมายสุดท้ายเป็นเป้าหมายใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ลองแบ่งส่วนให้เล็กลง ที่เราสามารถวัดผลและเห็นผลได้รายวัน (measurable goal daily)
อย่างคนอยากเก่งอังกฤษ ลองตั้งไว้ว่าวันหนึ่งอยากฝึกยังไงบ้าง ถ้าทำตามเป้าหมายรายวันย่อยๆ ได้ จะทำให้มีแรงใจไปสู่การพิชิตเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นได้เอง
แต่สุดท้ายแล้ว ถึงครั้งนี้เราจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้แปลว่าเรายังดีไม่พอ แค่คนอื่นอาจจะพร้อมกว่า อย่าพึ่งยอมแพ้ ยังมีปีถัดๆ ไปให้เราได้สู้ใหม่ด้วยเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม
ในตอนนี้ทางทุน Chevening ยังคงเปิดรับสมัครอยู่จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2023 นะคะ ใครสนใจสามารถส่งใบสมัครได้
หรือใครที่อาจจะเตรียมวางแผนไว้สมัครปีถัดๆ ไป ลองนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวได้เลย :)