ในโลกนี้เชื่อว่ามีแรดประมาณ 5 สายพันธุ์หลงเหลืออยู่ นั่นคือ แรดขาว แรดดำ แรดอินเดีย แรดชวา และแรดสุมาตรา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในความคุ้มครองของอุทยานแห่งชาติและเขตสงวน
ปัจจุบันแรดมีอยู่ทั้งในเอเชียและแอฟริกา ในอดีตเชื่อว่าเคยมีแรดท่องเที่ยวไปทั่วยุโรปเช่นกัน จากหลักฐานของภาพในถ้ำที่วาดโดยผู้คนในอดีต
นอแรดเองก็สามารถบ่งบอกสายพันธุ์ของแรดได้ด้วย กล่าวคือแรดแอฟริกาและแรดสุมาตราจะมีสองนอ ในขณะที่แรดสายพันธุ์อื่นๆ จะมีนอเดียว อีกทั้งนอแรดยังราคาแพงและเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดมืดด้วยเหตุผลหลายประการ
ทุกคนเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่านอแรดที่เป็นที่ต้องการนั้น แท้จริงแล้วมันทำมาจากอะไร? ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สิ่งที่ทำให้เกิดนอแรดนั้นคือสิ่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดผมและเล็บในร่างกายเรานั่นเอง!!
ซึ่งสารนั้นเรียกว่า ‘เคราติน’ มันเป็นโปรตีนที่มีโครงสร้างเป็นเส้นใย สามารถพบได้ในขนสัตว์ ขนนก กีบม้า กรงเล็บ และผิวหนังชั้นนอกสุดของเรา
เคราตินมีหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับผิว อีกทั้งยังมีประโยชน์เพราะสามารถประสานเนื้อเยื่อเข้ากับผิวหนังไว้ได้ด้วย ในนอแรดนั้นประกอบไปด้วยเคราตินที่อัดกันจนแน่น อย่างไรก็ตามในแรดที่อายุมาก นอของมันไม่สามารถงอกใหม่ขึ้นมาได้หากถูกตัดไป
ทาง National Geographic ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า นอแรดที่ทำมาจากเคราตินเช่นเดียวกับผมและเล็บของเราเพียงแค่มันมีรูปร่างที่แปลกประหลาด ก็สามารถสร้างรายได้มากถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 97,000 บาท) ในแอฟริกาใต้เลยล่ะ! มันมีค่ามากกว่าเพชรหรือทองคำเสียอีก
นั่นเป็นเพราะความเชื่อที่เชื่อกันว่านอแรดสามารถเป็นยาแผนโบราณชั้นดีได้จึงทำให้มันถูกล่าจนหลายสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ และเกิดการรณรงค์อนุรักษ์นอแรดมากมาย
.
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นอแรดถูกล่า นอกจากจะเป็นยาแล้วยังแสดงถึงความมั่งคั่งและอำนาจ หากความเชื่อเหล่านี้ยังไม่ถูกเปลี่ยน ไม่แน่ว่าในอนาคตสัตว์ที่เรียกว่า ‘แรด’ จะกลายเป็นแค่ชื่อเรียกและหาดูได้ตามในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
ที่มา: worldatlas