งามหน้าการศึกษาไทยอีกแล้ว…วันนี้ ScholarShip.in.th ก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับวงการการศึกษาที่มีคุณภาพสูงสุดอีกแห่งนึงของโลก นั่นคือการศึกษาไทยนั่นเองครับ ว่าแล้วเรามาชมกันได้เลย
เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF ) ได้รายงานผล โกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015 (Global Competitive Report 2014-2015) ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อยู่อันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 ของโลกเท่านั้น!!
แต่!! ระดับการศึกษาไทยในอันดับโลกนั้นลดลงมาที่ 87 ซึ่งลดลงมาถึง 9 อันดับกันเลยทีเดียว และที่ไฮไลท์ที่สุดคือ คุณภาพระบบอุดมศึกษา อยู่ในอันดับ 6 ตามหลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อยู่ในอันดับ 5 ครับ!!
ซึ่งเมื่อมีการรายงานออกมานั้น นักวิชาการไทยหลายท่านต่างก็ออกมาให้ความเห็นกันเป็นจำนวนมาก ดยมีทั้งกลุ่มที่หวั่นวิตก และหาช่องแก้ไขปัญหา เพราะข้อมูลนั้นสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาไทยของเรากำลังถอยหลังลงคลองกันอีกแล้ว…
แต่ในทางกลับกันก็มีนักวิชาการมาออกความคิดเห็นโต้แย้งว่า รายงานผลดังกล่าวมีความเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ใช้ไม้บรรทัดใดมาวัดคุณภาพการศึกษา ผู้วัดและประเมินได้มาเก็บข้อมูล และดูสภาพการจัดการศึกษาของทุกประเทศอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งแต่ละข้อมูลก็มีเหตุผลชวนคิดกันทั้งนั้นเลยล่ะ
และที่สำคัญอีกไม่ถึงปีประเทศไทยเราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกันแล้ว อีกทั้งก็ยังได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียนสำหรับระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ทำให้ต้องกลับมาคิดถึงคุณภาพของการศึกษาไทยว่าจะมีศักยภาพดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาได้หรือไม่นั่นเอง
คงต้องกลับมาคิดให้ถ่องแท้ว่าประเทศไทยมีจุดใดที่ยังเป็นจุดอ่อน และมีจุดใดที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาของไทยให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกในแบบฉบับไทย ๆ แทนที่จะวิ่งไล่ตามกระแสโลกอย่างไร้สติเหมือนเช่นทุกวันนี้…
ไม่เหมือนบางประเทศเช่นราชอาณาจักรภูฏาน ที่ประกาศนโยบายการบริหารประเทศว่า จะไม่สนใจผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross Domestic Product) หรือ GDP แต่จะสนใจความสุขรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness) หรือ GDH แทน
เช่นเดียวกับการจัดการระบบการศึกษาที่อิงกับนโยบายของประเทศ โดยยึดความสุขของประชาชนเป็นหลักเช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้ก็เห็นได้ชัดเลยว่า มีนักท่องเที่ยวมากมายที่หลั่งไหลเข้าไปเที่ยวและเยี่ยมเยือนภูฎานกันอย่างคับคั่ง
เป็นไปได้มั้ยว่าประเทศไทยของเรานั้นจะมีระบบการศึกษา มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในแบบฉบับไทย ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่นการนำเอาหลักพุทธศาสนาและเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแกนกลางในการวางรากฐานการศึกษากันเสียใหม่
ถึงเวลารึยังที่เราจะเปลี่ยน…คงเป็นคำถามที่หลายต่อหลายคนตั้งไว้ในใจและยังไม่ได้รับคำตอบเสียที…และคงต้องรอคอยผู้นำหรือผู้บริหารประเทศย้อนดูตัวเอง ขบคิดและคัดสินใจกันว่าจะพัฒนาระบบการศึกษาของไทยไปในทิศทางไหนเพื่อที่จะได้ก้าวสู่ความเป็นสากล โดยเฉพาะประชาคมอาเซียนอย่ามั่นคงและน่าภาคภูมิใจ
Source: เดลินิวส์, ขอขอบพระคุณภาพประกอบจากเน็ท